“คลัง” เปิดแผนแก้หนี้นอกระบบปี 56 โดยใช้กลไกผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หวังให้ทำงานแบบเข้มข้นมากขึ้น พร้อมจัดตั้งชุดกำลังผสมเฉพาะกิจแก้ปัญหา คาดในระยะยาวโอนหนี้เข้ามาให้แบงก์รัฐดูแลได้ทั้งหมด
นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในปีหน้ากระทรวงการคลังจะเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยขอให้เป็นนโยบายของรัฐบาลใช้กลไกผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ทำงานแบบเข้มข้นมากขึ้นด้วยการใช้ระบบตัวชี้วัด (KPI) เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการ โดยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง
สำหรับมาตรการระยะสั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และท้องถิ่น ประกอบด้วย คลังจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เชิญเจ้าหนี้นอกระบบมาเจรจาเพื่อลดดอกเบี้ย แล้วโอนเข้ามาอยู่ในการดูแลของแบงก์รัฐ ส่วนระยะยาว จะต้องออกกฎหมายมาช่วยดูแล เพราะในหลายประเทศ แม้แต่สหรัฐฯ ยังมีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะขณะนี้แบงก์รัฐมีความพร้อมในการช่วยเรื่องดังกล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า แบงก์รัฐมียอดเงินฝากรวมกัน 3.1 ล้านล้านบาท ปล่อยสินเชื่อ 3.4 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 179,000 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียงร้อยละ 4.5 โดยธนาคารออมสินมียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 3 เทียบกับธนาคารทั้งระบบ รองจากธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบ ธนาคารออมสินครองอันดับ 1 ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อเป็นอันดับ 5 เมื่อเทียบกับธนาคารในระบบ โดยธนาคารออมสินมีเอ็นพีแอล เพียงร้อยละ 1.1 ขณะที่ ธ.ก.ส.มีเอ็นพีแอล ร้อยละ 2.6 นับว่าแบงก์รัฐมีความแข็งแกร่งรองรับการช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้