นักเศรษฐศาสตร์ ชี้นโยบายประชานิยม “รถคันแรก” ตัวการสำคัญทำหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง กระตุ้นประชาชนก่อหนี้โดยใช่เหตุ คาดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนจะรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ด้านแบงก์ชาติยอมรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โตในอัตราที่น่าห่วง 7.5 แสนล้าน แซงหน้าสินเชื่อบัตรเครดิต หวั่นจุดชนวนวิกฤตเหมือนสินเชื่อซับไพรม์ เมื่อปี 51 ของสหรัฐฯ
รศ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาล โครงการรถยนต์คันแรกกระตุ้นประชาชนก่อหนี้โดยใช่เหตุ ทั้งนี้ อาจทำให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือชำระค่างวดได้เพียงบางส่วนหาช่องทางเปลี่ยนมือก่อนที่จะครบกำหนด ซึ่งก็เทียบเคียงกับปัญหาการซื้อขายผลิตภัณฑ์การเงินในสหรัฐอเมริกา จนลุกลามนำไปสู่วิกฤตการเงิน หรือซับไพรม์ ในปี 2551
รศ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการรถยนต์คันแรกเพิ่มความนิยมในกลุ่มชั้นกลางในเมือง แต่ขาดการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ ตั้งแต่ปัญหาจราจร จนหนี้นอกระบบ พร้อมกับประเมินว่า ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนจะรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังติดตามผลกระทบจากการขยายตัวหนี้ภาคครัวเรือน หลังพบว่า สินเชื่อบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลปีที่แล้วขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินเชื่อจากการซื้อ หรือเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 30 หรือมีหนี้สะสมในธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกว่า 750,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับหนี้บัตรเครดิตกว่า 640,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดหนี้สินเชื่อบริโภคอุปโภคส่วนบุคคล ทั้งหมด 2,700,000 ล้านบาท