สรรพสามิตปิดโครงการรถคันแรก ยอดขอคืนภาษีทะลุ 1.3 ล้านราย คาดต้องจ่ายเงินคืนประชาชนกว่า 9.05 หมื่นล้านบาท
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรถคันแรกที่ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 (วานนี้) มีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิแล้วทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 7.39 แสนคัน รถกระบะ 2.58 แสนคัน รถยนต์นั่งที่มีกระบะ หรือดับเบิลแค็บ 2.57 แสนคัน
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า เมื่อรวมกับผู้ที่ยื่นขอใช้สิทธิผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งจะปิดรับยอดในเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 31 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีประชาชนที่ซื้อรถคันแรกมาใช้สิทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านราย คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนทั้งสิ้น 9.05 หมื่นล้านบาท สูงกว่าตั้งเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ครอบครองรถยนต์คันแรกครบเวลา 1 ปีไปแล้วจำนวน 4.7 หมื่นราย คิดเป็นเงินภาษีรวม 3,481 ล้านบาท
กรมสรรพสามิตประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2556 จะต้องตั้งงบคืนภาษีรถยนต์คันแรกให้แก่ประชาชนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะต้องจ่ายเงินคืนประมาณ 7,500 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะต้องตั้งงบประมาณในการคืนภาษีรถคันแรกประมาณ 34 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2558 จะต้องตั้งงบประมาณจนครบจำนวนเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกทั้งหมด
“โครงการรถคันแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่ไม่เคยมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก ที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมจะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงภาคธุรกิจประกันภัย และธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเกิดการจ้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน และภาคธุรกิจเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย” นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวว่า ในเดือน ธ.ค.2555 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้ 4.03 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายทั้งสิ้น 4,176 ล้านบาท ส่งผลให้ 3 เดือนของปีงบประมาณ 2556 (ต.ค-ธ.ค.) จัดเก็บรายได้ไปแล้วทั้งสิ้น 1.19 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.73 หมื่นล้านบาท
ภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ 4.76 หมื่นล้านบาท ภาษีเบียร์จัดเก็บได้ 2.03 หมื่นล้านบาท ภาษียาสูบจัดเก็บได้ 1.56 หมื่นล้านบาท ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจัดเก็บได้ 1.55 หมื่นล้านบาท และภาษีสุราจัดเก็บได้ 1.35 หมื่นล้านบาท