xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ชี้ธุรกิจอ่วมค่าแรงวันละ 300 บาท ย้ำอัตราเหมาะสม 211 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ระบุ การขึ้นค่าแรง 300 บาท กระทบธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติก-สิ่งทอขั้นต้น-อุปกรณ์ไฟฟ้า-เหล็กและผลิตภัณฑ์-เครื่องแต่งกายอ่วม หวั่นช็อกระบบเศรษฐกิจไทย แนะเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันกับการเติบโตของจีดีพี ย้ำค่าจ้างเหมาะสม 211 บาท

ดร.สมศจี ศิกษมัต ผู้อำนวยการสำนักสถิติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่องการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยระบุว่า นโยบายการปรับค่าจ้างดังกล่าวเป็นการช็อกระบบเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภาพแรงงานก็เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ และรัฐบาลควรทำนานแล้ว เพราะในอดีตที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจไทยกดค่าจ้างไว้ให้ต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าออกต่างประเทศ เพื่อแข่งขันกับต่างชาติซึ่งในปี พ.ศ.2554 พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศโดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 176 บาท ซึ่งค่าจ้างที่เหมาะสมกับผลิตภาพแรงงานในขณะนั้นควรอยู่ที่วันละ 211 บาท

ดร.สมศจี กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอขั้นต้น อุปกรณ์ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ และจักรยานยนต์ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างค่าจ้าง และผลกำไรว่ามีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งมีการปรับตัวในการผลิตสินค้า และลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงขึ้น

ดร.สมศจี กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบได้ดีที่สุดคือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 8 และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าโดยรวมอย่างน้อยร้อยละ 2.5 เพื่อให้สอดคล้องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าจีดีพีในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.6

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการด้านภาษีช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยช่วยลดภาระด้านภาษีให้แก่ภาคธุรกิจอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของภาษีที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เช่น เคยจ่ายภาษีอยู่ร้อยละ 20 ต่อปี รัฐต้องลดให้เหลือร้อยละ 10 รวมทั้งมีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น การส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต และช่วยขยายตลาดในการจำหน่ายสินค้าทั้งใน และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของจีดีพี นอกจากการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยให้จีดีพีโตขึ้น เช่น การขายสินค้าส่งออกต่างประเทศได้มากขึ้น

“รัฐบาลจะต้องค้นหาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ให้เจอ และช่วยเหลืออย่างตรงเป้าหมาย มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เห็นว่ารัฐบาล และภาคเอกชนควรจะมีการศึกษาวิเคราะห์ว่าต้นทุนกับผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้าของธุรกิจแต่ละประเภทมีตัวเลขเท่าไร และมีการจัดสรรผลประโยชน์อย่างไร เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เหมาะสมกับผลิตภาพแรงงาน และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ แม้ไทยจะมีเป้าหมายต้องการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เนื่องจากมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิตน้อย ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งดำเนินการใน 2 เรื่องนี้” ดร.สมศจีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น