“สคบ.” นัดหารือ “ธปท.” วันที่ 13 ธ.ค.นี้ คาดถกปัญหา “แบงก์พาณิชย์” โขกอัตรา ดบ.บัตรเครดิตสุดโหด เผยยอดร้องเรียนอื้อ พร้อมระบุมีการเพิ่มปริมาณบัตรในระบบสูงถึง 16 ล้านใบ ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ใช่แบงก์กระฉูดกว่า 2.2 แสนล้าน
นายไพโรจน์ คนึงทรัพย์ ผู้อำนวยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ สคบ.ได้เชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมหารือปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ถูกผู้ประกอบการบัตรเครดิตคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมาก
“ก่อนหน้านี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญ ธปท. และ สคบ. เข้าไปชี้แจงกรณีได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคที่คิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูง เช่น ผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 1 แสนบาท เดือนต่อมาชำระเงินคืน 9 หมื่นบาท เหลือยอดเงินค้างชำระ 1 หมื่นบาท แต่ธนาคารก็คิดอัตราดอกเบี้ยตามยอดเงินที่ใช้จ่ายครั้งแรกคือ 1 แสนบาท ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค” นายไพโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สภาได้มอบหมายให้ สคบ. หารือร่วมกับ ธปท. ที่จะหาแนวทางการช่วยเหลือผู้บริโภค แต่เบื้องต้น ธปท.ได้ชี้แจงว่าเป็นหลักการคิดอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้ลดต้น ลดดอกเบี้ย ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามเงินต้นที่ใช้จ่าย เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน และก่อนที่จะสมัครบัตรเครดิตก็มีการเขียนรายละเอียดในใบสัญญาเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น สภาจึงเห็นว่าควรจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ จะได้มีความตระหนักในการใช้จ่ายบัตรเครดิต และเชื่อว่า ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้ว่ามีการคิดอัตราดอกเบี้ยจากยอดใช้จ่าย หากชำระไม่ครบก็ไม่ลดต้น ลดดอกเบี้ยให้
ทั้งนี้ จากรายงานของ ธปท. ระบุว่า ตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตล่าสุด สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มียอดบัตรเครดิตที่ให้บริการในระบบอยู่ทั้งสิ้น 16.07 ล้านบัตร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 1.35 ล้านบัตร หรือเพิ่มขึ้น 9%
ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ทั้งของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 222,179.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน