สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน จับมือ สคบ.MOU หน่วยงานด้านความปลอดภัยเพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยในอาคารสาธารณะ ห่วงเขตเมืองตึกสูง อาคารหนาแน่น เสี่ยงอัคคีภัย ชี้ ตึกเก่าอุปกรณ์ป้องกันเสื่อม ไม่เพียงพอ ชวนประชาชนร่วมเป็นหู เป็นตา แจ้งเบาะแสที่สายด่วน สคบ.1166
วันนี้ (4 ต.ค.) ที่โรงแรมทีเค พาเลซ สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย นายอนันต์ บัวสุวรรณ นายกสมาคมปลอดภัยไว้ก่อน ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการด้านความปลอดภัย กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร เพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่ใช้บริการในอาคารและสถานบริการ
นายอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกสร้างอาคารสูงจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขต กทม.มีอาคารกว่า 3 ล้านแห่ง ในจำนวนนี้เป็นอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่กว่า 3,000 แห่ง สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุด คือ การวางแผนป้องกันภัยในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะด้านอัคคีภัย เพราะจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ปี 2554 มีสถิติการเกิดอัคคีภัยในอาคารทั่วประเทศมากกว่า 180 แห่ง ซึ่งมักเกิดในคอนโด ออฟฟิศ และ โรงแรมสูง ในขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกินกว่า10 ชั้น มีปริมาณจำกัดมีเพียงไม่กี่คันเท่านั้น และยังพบว่าขนาดของถนนซอยถือเป็นอุปสรรคในการเข้าให้ความช่วยเหลือด้วย
“สภาพปัญหาปัจจุบันที่ผังเมืองและโครงสร้างอาคารมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย แม้ว่าหลายอาคารจะติดตั้งระบบป้องกันภัยตามกฎหมายกำหนด แต่อาจไม่เพียงพอ และที่สำคัญต้องมีการตรวจสอบ ดูแลรักษาระบบอยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะกรณีที่มีการดัดแปลง ต่อเติมอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาต หากเกิดภัยขึ้นประชาชนก็จะได้รับความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน” นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ กล่าวว่า สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน ได้ร่วมกับ สคบ.และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา แจ้งเหตุความเสี่ยง หากพบเห็นอาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และสถานบริการใดที่เข้าข่ายเป็นอาคารสาธารณะ เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย สามารถแจ้งเบาะแสมาทางโทรศัพท์สายด่วน สคบ.1166 ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน สมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมตรวจสอบปัญหาความไม่ปลอดภัย เพื่อดำเนินการเข้าตรวจสอบให้มีการแก้ไขปรับปรุง หรือดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น