ก.ล.ต.จัดเสวนาองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (IOSCO APRC) เพื่อกระชับความร่วมมือ เพราะในโลกปัจจุบันตลาดการเงินมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่งอาจกระทบต่อภูมิภาค หรือมีผลในระดับโลกได้เพียงชั่วข้ามคืน
วันนี้ (30 พ.ย.) นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเปิดงาน เสวนาองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (IOSCO APRC) Ffpit[6ว่า งานเสวนาในวันนี้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมการเสวนาหลายท่านมาจากภาครัฐและภาคเอกชน ผมจึงขอใช้เวลาสักเล็กน้อยในช่วงแรกกล่าวแนะนำท่านให้รู้จักองค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ (IOSCO)
ทั้งนี้ IOSCO เป็นองค์กรพหุภาคี ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจากทั่วโลกเป็นสมาชิก ในปัจจุบัน องค์กรนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศที่สำคัญในการกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ นอกจากนี้ สมาชิกขององค์กร IOSCO ยังเป็นผู้กำกับดูแลตลาดทุนในโลกกว่าร้อยละ 97 ของตลาดทุนทั้งหมด ในส่วนของ ก.ล.ต. นั้น เราได้เป็นสามัญสมาชิกขององค์กร IOSCO ตั้งแต่ปีแรกๆ ของการก่อตั้ง
IOSCO APRC ประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจาก 21 ประเทศ ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเรียนให้ทุกท่านได้ทราบว่า ในวันนี้เรามีประธานกรรมการและผู้แทนระดับสูงจาก 18 ประเทศ มาร่วมรับฟังเสวนาในที่แห่งนี้ ในโอกาสนี้ผมขอกล่าวต้อนรับ นายเดวิด ไรท์ เลขาธิการองค์กร IOSCO ซึ่งได้เข้าร่วมประชุม APRC กับเราด้วยเมื่อวานนี้
ผมเชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เข้าร่วมจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย คงรู้สึกประหลาดใจว่าเหตุใดจึงมีหน่วยงานกำกับดูแลจำนวนมากมาร่วมกันอยู่ในที่แห่งนี้ และพวกเราได้หารือกันในเรื่องใด โดยปกติการพบกับหน่วยงานกำกับดูแลเพียงแห่งเดียวก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต้องเครียดมากพออยู่แล้ว ลองนึกภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากต้องพบกับหน่วยงานกำกับดูแลเกือบ 20 แห่งอยู่ในห้องเดียวกัน
ผมเห็นว่าในการประชุมเมื่อวานนี้ได้ดำเนินการลุล่วงไปได้ด้วยดี ภายใต้การนำของประธาน IOSCO APRC นายอูเพนดรา กุมาร สินหา ซึ่งท่านยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งอินเดียด้วย ที่ประชุมได้อภิปรายถึงพัฒนาการของตลาดทุนในโลก และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำผลที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของตลาดทุน และหลีกเลี่ยงผลกระทบอันไม่พึงประสงค์
ในโลกที่ตลาดการเงินมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดแห่งใดแห่งหนึ่งอาจกระทบต่อภูมิภาค หรือมีผลในระดับโลกได้เพียงชั่วข้ามคืน ที่ประชุมได้ใช้เวลามากพอสมควรในการหารือถึงความร่วมมือระหว่างกันในการกำกับดูแล ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกันที่ผ่านมาในปีก่อน และเราจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาให้ความร่วมมือนั้นดียิ่งขึ้นได้หรือไม่ในปีหน้า
ผมอยากจะกล่าวนำท่านเข้าสู่การเสวนาในวันนี้ ซึ่งเรามีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจสองเรื่องด้วยกันในเช้าวันนี้ ซึ่งสองเรื่องนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความสำคัญและไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงทุกภาคส่วนในตลาดทุนด้วย
หัวข้อเสวนาในเรื่องแรกจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ทางเลือกในการระดมทุนของเอสเอ็มอีมักจะมีอยู่อย่างจำกัดมาก และไม่เพียงพอ การเสวนาจะเน้นให้เห็นถึงช่องทางการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างในการหาแหล่งทุนของเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างของประเทศไทย เอสเอ็มอีถือเป็นหน่วยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากการที่เอสเอ็มอีมีสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของจีดีพี ร้อยละ 28 ของมูลค่าการส่งออกรวม และร้อยละ 78 ของการจ้างงานในประเทศ แต่กระนั้น เอสเอ็มอีก็มีช่องทางที่จำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน และไม่มีความชำนาญในการใช้ตลาดทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพของธุรกิจ
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ริเริ่มสิ่งต่างๆ หลายเรื่องเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น โครงการหุ้นกู้เอสเอ็มอี และโครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการเข้าหาธุรกิจในต่างจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งมีศักยภาพที่จะระดมทุนจากประชาชนได้ โดยได้มีการจัดโครงการให้ความรู้ และฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่เอสเอ็มอี และได้มีการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วย
แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนจะได้ดำเนินการไปมากพอสมควร แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังจะต้องทำต่อไป นับว่ายังโชคดีที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตลาดทุนแห่งอื่น ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเรียนรู้ได้ ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความขอบคุณท่านประธาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งมาเลเซีย ดาตุ๊ก รานจิต อาจิต ซิงห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า มาเลเซียประสบความสำเร็จในการส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุนซึ่งช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย
ในวันนี้ เรายังมีนายชิน พยอง โฮ กรรมการบริหาร ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ของเกาหลี หรือ KONEX ซึ่งจะเป็นตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ยังมีนายพงษ์ศักดิ์ โล่ทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในวงการธุรกิจร่วมลงทุน
โดยมีผู้ดำเนินการเสวนาคือ นายพินิจ พัวพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทยและในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุก ผมเชื่อว่าการเสวนานี้จะเป็นประโยชน์ และท่านจะได้รับความรู้ และข้อมูลต่างๆ มากมาย
สำหรับการเสวนาในเรื่องที่สอง จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจจัดการลงทุนท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค ผมเชื่อว่าทุกท่านได้เห็นทิศทางของนโยบายการกำกับดูแลซึ่งจะเปิดกว้างขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้น เราได้เห็นการทวีความสำคัญของการกระจายความเสี่ยง และการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงยิ่งขึ้นของผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายย่อย เงินลงทุนในโลกต่างเคลื่อนย้ายเข้าสู่เอเชีย กรอบการลงทุนได้ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น ทำอย่างไรบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะสามารถมีบทบาทในเชิงรุก และสามารถฉกฉวยความได้เปรียบในสภาพแวดล้อมใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้
นับเป็นโอกาสดียิ่งที่เราจะมีผู้ร่วมเสวนาที่มีชื่อเสียงจากหน่วยงานกำกับดูแล นายแอชลีย์ อัลเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก.ล.ต. ฮ่องกงนายฌอง มาร์ค กอย ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดการเงิน ประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศลักเซมเบิร์ก ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกในด้านอุตสาหกรรมการจัดการเงินทุน
สำหรับผู้ร่วมเสวนาอีกสองท่าน เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากภาคเอกชน ประกอบด้วย น.l.คอรีน โช้ค หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายกองทุน ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน เอเชีย จำกัด ประจำประเทศสิงคโปร์ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนรองประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ดำเนินรายการโดย นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนโยบายเชิงกลยุทธ์ในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และประสิทธิภาพให้แก่ตลาดทุน
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ปีนี้เป็นโอกาสที่สำนักงาน ก.ล.ต. ครบรอบ 20 ปีแห่งการจัดตั้ง ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งใน และต่างประเทศ ในด้านต่างประเทศนั้น ดังที่ผมได้กล่าวย้ำก่อนหน้านี้แล้วว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องประสานความร่วมมือกันในภูมิภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุม APRC และงานเสวนาในวันนี้
ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความขอบคุณเพื่อนร่วมงานจาก ก.ล.ต. ในกลุ่ม APRC ทุกท่าน และฝ่ายเลขานุการขององค์กร IOSCO ซึ่งได้มาเยือนกรุงเทพมหานคร ในโอกาสสำคัญครั้งนี้ ผมหวังว่าทุกท่านจะได้รับความสะดวกสบายในระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ผมขอขอบคุณผู้แทนจากภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากการเสวนาในวันนี้