xs
xsm
sm
md
lg

การเปลี่ยนผู้นำของประเทศจีนและผลกระทบต่อการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยสโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
sarokarn@thaibma.or.th
www.thaibma.or.th

ในช่วง 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการเปลี่ยนตัวผู้นำของ 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน กลายมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนโดยทั่วไปให้ความสนใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกเป็นสมัยที่สอง ขณะที่นาย สี จิ้น ผิง เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน ต่อจากนาย หู จิ่น เทา และนาย หลี เค่อ เฉียง ที่จะขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศต่อจากนาย เหวิน เจีย เป่า พร้อมๆกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะร่วมกันรับผิดชอบบริหารประเทศต่อไปในช่วงอีก 10 ปีนับจากนี้

การเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศจีนในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ เนื่องจากในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีขนาดของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำ จึงนำมาซึ่งการคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างๆ อย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า นาย สี จิ้น ผิง ที่จะเริ่มงานในตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนอย่างเป็นทางการในเดือน มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ เป็นผู้นำเลือดใหม่ที่มีแนวความคิดค่อนข้างเปิดกว้าง ทั้งด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศของจีนในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบทางการเมืองของประเทศจีนที่มีความผูกขาดและค่อนข้างแตกต่างจากรูปแบบการปกครองของประเทศอื่นๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางรูปแบบการพัฒนาประเทศในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งในเรื่องการเมือง การบริหารประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการทหาร ไว้ค่อนข้างครอบคลุมแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ผู้นำประเทศคนใหม่ จะดำเนินนโยบายตามแผนฯ เดิมที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง

โดยปัจจุบัน ประเทศจีนอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 (ปี พ.ศ. 2554 - 2558) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลของระบบเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในแผนพัฒนาฉบับนี้ จีนจะเน้นการบริโภคภายในประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการบริโภคของบุคคล รวมไปถึงการขยายตลาดผู้บริโภคในประเทศให้กว้างขึ้น และลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้แล้ว จีนยังมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับ 7.5% ต่อปี โดยหนึ่งในวิธีการที่จะทำเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย คือกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น โครงการการสร้างรถไฟฟ้าในประเทศประมาณ 10 - 15 สายต่อปี

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน โดยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศให้สูงขึ้น เพื่อทดแทนการส่งออกของจีนไปในตลาดโลกที่นับวันยอดการสั่งซื้อสินค้าของจีนมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ นั้น ที่ผ่านมายังไม่ค่อยเห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า เราอาจจะเห็นรัฐบาลของประเทศจีน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น

และสำหรับประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือการเปิดเสรีทางด้านตลาดการเงินของจีน ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำจีนในช่วงปลายปีนี้จนถึง มี.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ น่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดเงิน และตลาดทุนของจีนมากขึ้น เพราะโดยปกติในช่วงที่มีการเปลี่ยนผู้นำใหม่ มักมีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยเสมอ

ในขณะที่ ภาพรวมของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น น่าจะยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ยังคงเป็นที่น่าดึงดูด และยิ่งมีการร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นอย่าง AEC ด้วยแล้ว ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้นำคนใหม่ของจีนน่าจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากในปี 2555 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และอนุมัติโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการ ซึ่งหากเศรษฐกิจของจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะทำให้การค้าของไทยกับประเทศจีน ซึ่งรวมถึงการส่งออกของไทยไปประเทศจีนปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น