xs
xsm
sm
md
lg

4 ปี หอศิลป์ กทม. พร้อมเป็น หอศิลป์เพื่อประชาชน แล้วหรือยัง ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก เผลอแป๊บเดียว หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ก็เปิดดำเนินการมาได้ 4 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2551) และถ้านับรวมตั้งแต่ช่วงเวลาของการริเริ่มและเรียกร้องเพื่อให้ได้มา (ตั้งแต่ ปี 2537) ก็เป็นเวลาเกือบจะ 10 ปี แล้ว

เพราะการได้มาซึ่งหอศิลป์ฯ เกิดจากเรียกร้องโดย เครือข่ายศิลปิน งาน หอศิลปกรุงเทพฯ พบเครือข่ายศิลปิน ครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมี ไกรศักด์ ชุณหะวัณ กล่าวเปิดงาน

นอกจากการแสดงดนตรี อาทิ หงา คาราวาน,มงคล อุทก,อารักษ์ อาภากาศ,เบบี้ อาราเบีย ฯลฯ  โดยเฉพาะ น้าหงา ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของตนเองว่า

"ผมก็จำได้ว่าไปร้องเพลงประท้วงหลายๆครั้งที่หน้าศาลาว่าการ ร้องอยู่ป้ายรถเมล์ อายก็อายชาวบ้าน มีอยู่ 4- 5 คน ตอนนั้น ร้องเพลงแล้วก็ตะโกน นึกย้อนไปแล้ว ไม่นึกว่าจุดประสงค์ที่เราประท้วง จะกลายเป็นสิ่งนี้ขึ้นมา นั่นคือ หอศิลป์ กทม."

 
กิจกรรมส่วนหนึ่งยังมี เวทีเสวนา ย้อนความหลัง เมื่อครั้งต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งหอศิลป์ฯ ของ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ คนแรก, มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพ, หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ จิตรกร และวิชญ์ อริยศรีวัฒนา สถาปนิก ดำเนินรายการ โดย กุลยา กาศสกุล
 
ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งหอศิลป์ฯ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการจัดงานประมูลศิลปะระดมทุนเพื่อใช้ในการรณรงค์,เดินขบวนถือภาพเขียนความยาว 4 กิโลเมตร ที่เย็บต่อกันจากภาพเขียนกว่า 4,000 ภาพ จากสี่แยกปทุมวัน ไปปูแขวนเต็มลานหน้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ในยุคผู้ว่า สมัคร สุนทรเวช ที่ต้องการเอาพื้นที่ของหอศิลป์ไปให้เอกชนลงทุนสร้างอาคารพาณิชย์)และทำ ART VOTE ตั้งคำถามกับประชาชนว่าต้องการหอศิลป์หรือศูนย์การค้า

แต่บนเวทีที่พวกเขาได้กลับมาย้อนความหลังก่อนจะได้มาซึ่งความสำเร็จของการเรียกร้อง ให้ผู้ไปร่วมงานได้รับฟัง ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนออกจากใจของพวกเขา ทั้งด้านที่อยากให้ปรับปรุง,และอยากให้ทำความเข้าใจ หลังจากที่ผู้ดำเนินรายการได้โยนคำถามว่า

เวลานี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตอบโจทย์ของการเป็นหอศิลป์เพื่อประชาชนแล้วหรือยัง ?
วิชญ์ อริยศรีวัฒนา,หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ,มานิต ศรีวานิชภูมิ, ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที และ กุลยา กาศสกุล
เริ่มต้นด้วย หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ที่สะท้อนว่ายังมีศิลปินจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสในการใช้พื้นที่แห่งนี้,เรียกร้องทางผู้บริหารว่าอย่าเห็นแก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอยากให้ศิลปินทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่สัมภเวสีที่ต่างแดน

หงษ์จร : ดีใจนะฮะที่วันนี้เรามีหอศิลป์ แต่มันยังไม่พอฮะ เพราะว่าการขับเคลื่อนของวงการศิลปะ เรายังต้องเดินหน้ากันต่อไป แล้วพื้นที่ในการทำงานศิลปะและแสดงงานศิลปะในบ้านเรามันน้อยมาก พื้นที่สำหรับคนเล็กคนน้อย ศิลปินตัวเล็กตัวน้อย มันน่าเห็นใจครับ ทุนรอนไม่มีอดอยากอยากแค้น ผมเจอมาเยอะ

ผมเนี่ยเชื่อว่าพี่โต้ง(ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ) มีคนไปขอสตางค์บ่อย พวกศิลปินพี่โต้งก็ช่วยมาตลอด ตรงนี้ ผมก็หวังว่า พื้นที่หอศิลป์แห่งนี้ ต้องอำนวยความสะดวกให้กับแวดวงศิลปะเราจริงๆ อย่าเห็นแต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และผู้อำนวยการหอศิลป์ที่มาบริหารตรงนี้ ก็อยากให้ชัดเจนในแง่ของ ต้องเข้าใจว่าวงการศิลปะมันขาดแคลน ต้องช่วยกัน ต้องให้โอกาสกันและต้องจริงใจกับการบริหารพื้นที่แห่งนี้ อย่าให้เค้าไปวิพากวิจารณ์กันข้างนอก มีอะไรมาคุยกัน

ผมดีใจว่าวันนี้หอศิลป์เปิดห้อง แล้วมีกล้องที่บันทึกภาพจากคนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกัน มีอะไรให้พูด ตรงนี้ผมได้เป็นคนเสนอไปแล้วหอศิลป์ก็ได้ทำตรงนี้ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับมาสู่วงการศิลปะ แล้วเราก็จะช่วยกัน ทำให้พื้นที่ตรงนี้ ยังอยู่กับพวกเราแวดวงศิลปะ

ผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกที่จะมากระชากพื้นที่ตรงนี้ออกไปจากเครือข่าย จากคนในแวดวงศิลปะได้ ถ้าเรามีความจริงใจต่อกัน เราต้องรักกัน ช่วยกัน ผมเห็นใจผู้บริหาร ยังไม่เข้าใจอะไรถามผม ผมให้คำแนะนำได้

ศิลปินคนไหนที่เคยมาตรงนี้แล้วไม่ได้รับความสะดวกสบาย เราต้องคุยกัน แล้วผมเชื่อว่าประเทศนี้ศิลปินตรงช่วยกัน เอากลับคืน ไม่ใช่ให้สัมภเวสีที่อยู่ต่างประเทศเนี่ย ขับเคลื่อนให้ประเทศมันเคลื่อนไปยังนั้น เคลื่อนมาอย่างนี้

ไม่ได้ เราศิลปิน นั่งกันอยู่ตรงนี้ ช่วยกัน ผมเชื่อว่าความรักความจริงใจเท่านั้นที่จะช่วยให้วงการศิลปะเราไปรอด แต่ถ้าเราแบ่งก๊กแบ่งเหล่า ผมยังรู้สึกเลยว่า ผมไม่มีสถาบันนะฮะ แต่ผมมีเพื่อนทุกสถาบัน แล้วเขาก็มาระบายกับผม แม้แต่เพาะช่างเหมือนกัน เขาไม่มาเหยียบที่นี่ เขาบอกว่ามาขอใช้พื้นที่จัดแสดงงานปูนปั้น แล้วหาว่างานเขาเป็นงานช่างไม่ทันสมัย ไม่ให้เขาแสดง วันหลังต้องดึงคนพวกนี้มาคุยกันหน่อยซิ ว่ามันยังไง

ถ้าเราต้องการเครือข่ายที่เข้มแข็งจริงๆเราต้องเปิดพื้นที่ให้พวกเราเข้ามา แล้วความทุกข์ยากของวงการศิลปะมันจะหายไป ความรุ่งเรืองของวงการศิลปะจะกลับคืนมา แล้วผมเชื่อว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งที่จะประสานกับทุกสถาบันได้ เพราะว่าผมเป็นคนไม่มีสถาบัน ผมเป็นคนนอกคอก เพราะว่าผมไม่อยู่ในคอก ถ้าอยู่ในคอกแล้ว โดนต้อนตลอด”

ด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ เสนอให้ทุกคนร่วมเสนอความเห็นและข้อชี้แนะ เพื่อให้ได้หอศิลป์ที่เป็นของทุกคน ติงใครที่อยากเรียกร้องให้หอศิลป์เป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ต้องไปสร้างหอศิลป์เอาเอง และชม เจ้าหน้าของ กทม.ที่เปิดใจกว้างให้กับภาพยนตร์ที่ถูกห้ามฉาย

มานิต : “ผมว่าวันนี้เป็นก้าวที่ดีก็คือ ประเด็นที่ผมอยากจะเน้นก็คือ แต่ละคนมีความเห็นอะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้เราเปิดรับความคิดเห็น เหมือนเรามีตะกร้าอยู่ คุณก็โยนความคิดเห็นใส่ในตะกร้าไว้ เดี๋ยวผู้บริหารเขาจะมีหน้าที่คอยแยกความคิดเห็นต่างๆแล้วเอาความคิดเห็นเหล่านั้น มาวางเป็นแนวทาง เป็นนโยบาย เพราะฉะนั้นในอนาคต ผู้บริหารเขาปฎิเสธไม่ได้หรอกครับ เขาต้องยอมรับว่าธรรมชาติของการเกิด มันเกิดจากคนหมู่มาก เกิดจากประชาชน เขาจะปฏิเสธประชาชนไม่ได้ สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ เขาต้องเอาความคิดเห็นของประชาชนเนี่ยมากลั่นกรอง แล้วตั้งเป็นแนวนโยบาย แล้วนำเสนอกลับมาให้ประชาชน

หอศิลป์ ที่เกิดขึ้นวันนี้ ผมคิดว่า แนวโน้มจะเป็นแบบนั้น และก็ควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าใครบอกว่าอยากจะให้หอศิลป์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องไปสร้างหอศิลป์ของตัวเองเหมือนคุณบุญชัย (เบญจรงคกุล)จะทำอะไรก็ได้ไม่มีใครสามารถจะไปว่าคุณบุญชัยได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของเงิน แต่หอศิลป์ตรงนี้ไปทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติของการเกิด มันเกิดไม่เหมือนกัน บริบทไม่เหมือนกัน

อย่างที่คณาจารย์ที่เพาะช่างเกิดไม่พออกพอใจ ก็มาสะท้อน แล้วทีมงานต้องนำเสนอแนวทางที่ว่า เราจะเอาคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างไร พื้นที่มันใหญ่โตฮะ มันแบ่งกันได้ โลกใหญ่พอสำหรับทุกคน ถ้าเรารู้จักจัดสรรให้มันพอเหมาะพอควรนะครับ

ไม่ใช่บางคนได้เยอะกว่าคนอื่น แล้วบางคนนี้แทบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเวทีนี้เป็นเวทีประชาธิปไตย ตะกี้ ท่านรองจากทาง กทม.กล้ามาก ที่บอกว่า ที่นี่ต้องจัดฉายหนังต้องห้าม เผอิญหนังผมถูกแบน แสดงว่าผู้บริหาร กทม.เปิดกว้าง ถ้าเสนอแนวคิดให้ฉายหนังต้องห้ามได้เนี่ย ผมคิดว่าประเทศนี้ก้าวหน้าไปแล้วนะครับหนึ่งขั้น เสรีภาพของเรามันใช้ได้แล้วนะครับ อย่างน้อยหอศิลป์ได้เปิดทัศนคติ วิธีคิดของคน จากคนที่ไม่เคยคิดอะไรนอกกรอบ ให้คิดเหมือนคุณหงส์จรที่อยู่นอกคอก ตอนนี้หอศิลป์มันได้ขยายเส้นขอบฟ้าทางความคิดให้แล้วนะครับ ผมดีใจฮะที่ได้ยินเจ้าหน้าที่ของ กทม.พูดอย่างนี้ ผมชื่นใจแล้วแหล่ะ”

ด้าน ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ คนแรก ถูกโยนให้ตอบคำถามว่า จริงหรือไม่ว่าที่ผ่าน หอศิลป์ฯเปิดโอกาสให้แสดงแต่ผลงานศิลปินรุ่นใหม่และเป็นงานศิลปะสมัยใหม่เป็นส่วนใหญ่ แต่ผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนร่วมเรียกร้องหอศิลป์ ถูกจำกัดพื้นที่

ฉัตรวิชัย : ที่จริงเราเปิดกว้างมากเลย และเมื่อกี้ต้องขอแก้ข่าวนิดนึง เผอิญกรณีเพาะช่าง มันไปชนกับนิทรรศการที่เราเลี่ยงไม่ได้ ที่จริงเราเปิดกว้าง ส่วนในวาระต่าง ในช่วงเวลาที่ผมเป็น ผอ. แต่ที่จริงเวลานี้ผมก็ยังอยู่ในส่วนกรรมการบริหารหอศิลป์ฯ อยู่

เราต้องคิดอย่างคุณมานิตบอก การเปิดกว้างไม่ยากเลย เพราะว่าเรามีพื้นที่มาก เราจัดเวลาให้มันถูกต้อง จัดพื้นที่ให้มันดี หอศิลป์ เราอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์การค้า ในแง่ของวัฒนธรรม ณ ขณะนี้ จะไปที่ไหนก็ต้องกิน จะไปที่ไหนก็ต้องชอป เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปเราไม่ค่อยมีขีดจำกัด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยอมรับว่า ที่นี่ไม่ใช่พื้นที่เผด็จการนะครับ เราต้องฟังหลายๆเสียงเหมือนกัน ศิลปินก็ต้องเข้ามาช่วยออกเสียงด้วยว่า อยากจะทำอะไร คุณมานิต ขณะนี้หนังไม่ได้ฉาย เราก็ต้องบอกว่าวันนี้ดีแล้วมาตั้งกติกากันใหม่ มาช่วยกันนิยาม แล้วมาช่วยกันตั้งนิยามหอศิลปวัฒนธรรมของเราอยากเห็นอะไรอยากทำอะไรดีกว่า

ต้องบอกเลยว่าเมื่อก่อนเราเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยกรุงเทพ แต่ว่าตอนหลังมีการเติมวัฒนธรรมเข้าไปเพื่อให้มันหลากหลาย คุณสุจิต วงษ์เทศ ยังมาประชุมกับเราได้เลย เราปฎิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันผลักดัน คุณอั๋น(หัวหน้าคณะละครใบ้คนหน้าขาว)เมื่อกี้มานั่งทวง เหยงๆเรื่องเวทีของเขา พวกเราก็ปฏิเสธเขาไม่ได้เหมือนกันเรื่องการละคร ไม่รู้ว่าผมตอบคำถามหรือเปล่า แต่ส่วนตัวแล้วเนี่ย มันต้องช่วยกันดู มันไม่มีความแคบเลยในพื้นที่นี้”

มานิต กล่าวเสริมว่า ทุกคนต้องใจกว้าง และให้ทำความเข้าใจธรรมชาติของบางสิ่งว่า คนสร้างอาจไม่ได้อยู่

มานิต : ผมอยากจะแก้ตัวให้กับทีมงานที่บริหารแล้วกัน เพราะว่าก็เห็นใจ ที่มันก็มีอยู่ที่เดียวแล้วไอ้ความต้องการมันเยอะมาก อยากให้ฟัง ต้องใจกว้างด้วยนะครับ ผมได้ยินมาเสมอ บางทีศิลปินเดินเข้ามาแล้วจะรู้สึกว่าพื้นที่นี้ ไม่ใช่พื้นที่ของเขา และเขาเป็นผู้ที่ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งหอศิลป์นี้ แต่พอได้มาแล้วเขาไม่มีพื้นที่อยู่ตรงนี้ ก็ต้องเห็นใจว่า ส่วนหนึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไอ้คนสร้างก็ไม่ได้อยู่ ไอ้คนอยู่ก็ไม่ได้สร้าง

ถ้าเราตะหนักถึงสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเข้าใจ เป็นเรื่องที่ยังต้องทำความเข้าใจกันเยอะอยู่เหมือนกัน แน่นอนทรัพยากรมันยังมีน้อย แต่คนที่จะมาขอร่วมใช้ด้วยมันมีน้อย มันก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องจัดสรรให้ทรัพยากรมันกระจายออกไป อย่างน้อยที่สุดให้ได้มากที่สุด ให้ได้เท่าเทียมที่สุด เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่ฝ่ายบริหารต้องรับไปและจะแก้ตัวไมได้นะครับ

แต่ขณะเดียวกันผู้ที่เรียกร้องก็ต้องเข้าใจฝ่ายบริหารเหมือนกันว่า เขาก็มีปัญหาอยู่เหมือนกันในการที่จะจัดสรร เพราะฉะนั้นอยากจะฝากตรงนี้ว่า ส่งเสียงมาเถอะครับ ส่งความคิดเห็นเข้ามาแล้วความคิดเห็นนั้น มันจะไม่ถูกทิ้งลงถึงขยะ แต่มันจะถูกนำไปเป็นตัวตั้ง แล้วทำให้ผู้บริหารต้องกลับไปคิดแก้โจทย์ตรงนี้ให้ได้”

ก่อนที่ หงษ์จร จะขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เป็นกัลยาณมิตรกันจริงต้องติชมกันได้ และขู่จะเรียกคืนจดหมายขอใช้พื้นที่ เพื่อจัดแสดงผลงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ หากไม่ได้รับคำตอบจากทางหอศิลป์ฯ

หงษ์จร : “ผมขออีกนิดหน่อยครับ ผมไม่ขอแก้ต่างให้ใคร แล้วผมคิดว่าถ้ารักกันจริง ต้องเป็นกัลยาณมิตรกัน ติกันได้ ไอ้การติชมเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่เราจะนำมาปรับปรุงแล้วก็แก้ไข เพราะฉะนั้นอะไรที่มันไม่ดี เราทำให้มันดีเสีย แต่ถ้าอะไรที่ดีอยู่แล้ว เราก็ให้มันดีๆยิ่งขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้พวกเราเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้กว้างกว่านี้ ถ้าเป็นผม ผมจะพูดตรงๆว่า ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น ผมคนเดียวก็ไม่ได้นะฮะ เพราะว่าผมเองคนเดียว พูดมาก ยังคับแคบไป

เพราะฉะนั้น คนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนทำงานศิลปะแล้วขาดพื้นที่ ขาดการสนับสนุน ผมอยากให้เริ่มตรงนี้ ถ้าเราอยากจะให้พื้นที่ตรงนี้ยังอยู่ต่อ เปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะในเวบไซต์หรืออะไรต่างๆ เราฟังคำติชมของเขา แล้วเราจะรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ เราจะทำยังไงให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและคนในแวดวงศิลปะ

จริงๆแล้วคนที่มีชื่อเสียง เขาไม่ต้องมาตรงนี้หรอก แต่ไอ้คนที่ไม่มีชื่อเสียง มันต้องการพื้นที่ อย่างผมเนี่ย ในประเทศผมจะแสดงตรงไหนได้หมด ยังไงก็แล้วแต่ ผมอยากให้เห็นแก่คนเล็กคนน้อย นะครับ อยากให้ฝากถึงผู้อำนวยการหอศิลป์ คุณลักขณา (คุณาวิชยานนท์)ว่าช่วยกัน ผมฝากจดหมาย ขอใช้พื้นที่ให้ท่านอังคารก็ยังไม่ได้คำตอบ ระยะเวลาค่อนข้างยาวนานมาก แล้วผมอาจจะขอจดหมายคืนด้วย(เสียงปรบมือ) แล้วพื้นที่ตรงนี้ ผมอาจจะเปลี่ยนชื่อได้ ถ้าศิลปินพร้อมใจกัน ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกัน อย่าเป็นหอศิลป์ กทม.อยู่เหมือนเดิม อย่ายึกยักอะไร ขอให้ตรงไปตรงมา กับคนในแวดวง แล้วผมจะเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยให้พื้นที่ตรงนี้อยู่กับพวกเรา”


หลังจากวงเสวนาจบลงพร้อมกับการแจ้งว่า อีกไม่นานจะมี โครงการจดหมายเหตุหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสิ่งอธิบายที่มาที่ไปของหอศิลป์ฯ

ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ คนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2554 ก่อนที่หอศิลป์จะถูกโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน แต่ยังได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาที่หอศิลป์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันว่า

“หอศิลป์เปิดมาเป็นปีที่ 4 แล้วก็จริง แต่ว่าความเข้าที่ในเรื่องของรูปแบบการจัดการองค์ หรือสถานะขององค์กรที่มันชัดๆ มันเพิ่งเริ่มเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเอง เมื่อ กทม.ได้โอนสิทธิ์การบริหารให้ มูลนิธิฯ อย่างชัดเจน แล้วก็มีงบประมาณสนับสนุนเป็นรูปธรรม(งบประมาณ ปี 54 ประมาณ 40 ล้าน และปี 55 ประมาณ 60 ล้าน)

ก่อนหน้านั้นที่มันยังไม่ชัดเพราะว่ากรรมการบริหารมูลนิธิฯ ยังเป็นข้าราชการเป็นหลัก ก็เลยทำให้ทุกอย่างต้องวิ่งกลับไปที่ทางสำนักวัฒนธรรมของ กทม.ในการอนุมัติการใช้พื้นที่ ทำให้เกิดความคับข้องใจกับสาธารณชนและคนทำงานศิลปะมาก

ในช่วงแรกที่ดิฉันเข้ามา เราต้องสื่อสารเรื่องนี้เยอะ ว่าตอนนี้เราปรับเปลี่ยนแล้วนะ มูลนิธิฯ ได้รับสิทธิอย่างเต็มรูปแบบ เพราะฉะนั้นการบริการ การจัดการ มันจะคล่องตัวขึ้น แต่แน่นอนว่า บุคลากรเรายังน้อย ตอนดิฉันเข้ามาแค่ 10 กว่าคนเอง แล้วก็รับคนเพิ่มมาตอนนี้จะ 30 คนแล้วค่ะ เพิ่มมาเรื่อยๆ ตามภาระงานที่เราเริ่มปรับให้มันมีมากขึ้น และรับคนที่มีความเชี่ยวชาญในสายนั้นมาช่วยงาน ก็เป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กร การทำความเข้าใจกับ กทม.ซึ่งจะต้องคุยกันอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเรื่องการนำเสนอแผนงบประมาณอะไรต่างๆ

ถามว่าหนักใจไหม ก็ไม่ถึงกับหนักใจ แต่ถ้าเทียบกับสเกลที่ตัวเองทำที่หอศิลป์ตาดู ที่อยู่ๆมันก็เหมือนระเบิดสเกลขึ้นมาเป็นสเกลที่ใหญ่มาก และมันมีความเป็นเจ้าของๆพื้นที่เยอะไปหมด เราต้องสื่อสาร ทั้งทางบน ทั้งทางข้างล่าง ทั้งซ้าย ทั้งขวา 360 องศา ข้างบนก็หมายถึงต้องคุยกับภาครัฐเรื่องแผนงาน ทำไมเขาต้องสนับสนุนเราเท่านั้นเท่านี้ต่อปี ต้องมีการนำเสนอว่ามันมีประโยชน์ยังไง

ส่วนล่างก็คืองานที่เราทำ ทำอย่างไรถึงจะมีการสื่อสารกับคนให้มากที่สุด ให้มันคุ้มกับเม็ดเงินที่ลงทุนในการจัด และทั้งเครือข่ายศิลปินเขาก็มีทั้งที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง พื้นที่มีเท่านี้ จะทำยังไงที่จะแสดงทุกคนได้หมด เป็นไปไม่ได้ คุณภาพในการนำเสนอมันก็มีระดับหนึ่ง มันก็ต้องมีการเลือกเข้าเป็นธรรมดา แต่มันไม่ได้หมายความว่า เราเลือกเขาออกวันนี้ แล้วมันจะไม่มีเขาอีกเลย

 หอศิลป์มันยังอยู่ มันยังไม่ได้หมดไป ณ วันนี้ ที่นิทรรศการนึงมันถูกจัดขึ้น แล้วไม่มีเขา มันยังมีวันข้างหน้าอีก เราไม่ได้คิดว่า เราทำวันนี้ แค่นี้ โอกาสข้างหน้ามันมีจังหวะที่เหมาะสม มีตรีม มีคอนเซ็ปต์ที่เหมาะสมแล้วเขาก็อาจจะเข้ามาได้ "

วสันต์ สิทธิเขตต์ กล่าวในฐานะผู้มีส่วนร่วมเรียกร้องให้ได้มาซึ่งหอศิลป์ และเป็นผู้ออกไอเดีย ภาพเขียน 4000 ชิ้น เพื่อการประท้วง พร้อมกับตะเวณไปรณรงค์หลายภูมิภาคว่า อยากให้ทุกคนให้เวลาหอศิลป์ฯ ปรับไปสู่ความพร้อม

"ได้ตึกมาแล้ว มันก็ย่อมต้องมามีปัญหาเรื่องการจัดการตามมาอีก เราต้องค่อยๆคุยกัน เปิดเผย ให้เวลา ผมก็มองดูอยู่ห่างๆครับ มีอะไรเราก็ส่งเสียง โทรหากัน ปรึกษากัน เฮ้ย จะเอายังไงกันแน่ ปัญหามันเกิดจากอะไร สู้มาแล้ว เราไม่อยากให้มันถูกทิ้ง เพื่อกลายเป็นตึก ให้ใครหาผลประโยชน์จากมัน"

แล้วคุณล่ะ ในฐานะผู้ชมงานศิลปะ มีทัศนะต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อย่างไรบ้าง?
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น