xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ชี้ไทยมีโอกาสเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน แนะภาครัฐ-เอกชน ผนึกกำลังปรับโครงสร้าง ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
“สมคิด” ชี้อนาคตประเทศไทยมีโอกาสสูงจะเป็นผู้นำในอาเซียน เพราะมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเมือง แนะต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐ และเอกชนต้องเร่งมือดำเนินการปรับโครงสร้าง ศก. ครั้งใหญ่ เพราะขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะดี เพราะเป็นช่วงที่ ศก.โลก กำลังอ่อนแอ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงทิศทางในอนาคตของประเทศไทย โดยยอมรับว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นผู้นำการเติบโตในอาเซียน เพราะมีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และการเมือง หากทำได้ไทยจะฉีกตัวเหนือประเทศอื่นได้ เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่สามารถรักษาระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเกินร้อยละ 5 ใน 4 ทศวรรษ และแสวงหาประโยชน์ได้มากกว่าลาว กัมพูชา และพม่า

ทั้งนี้ ยังมีหลายปัจจัยเป็นความเสี่ยงของประเทศ คือ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองได้ จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมดำเนินการ ขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะดี เพราะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ หากไทยใช้จังหวะนี้สร้างความเข้มแข็งจะดึงดูดการลงทุน โดยจะต้องยกระดับขีดความสามารถการผลิต และลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคในชนบท สร้างงาน สร้างรายได้

“ประเทศไทยไม่มีโปรแกรมที่จะพัฒนาสิ่งที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้ มีแต่วิสัยทัศน์ เช่น กรณีข้าว แทนที่จะมาถกเถียงว่าจำนำ หรือประกันราคาอันไหนดีกว่ากัน แต่ควรดูว่าจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาข้าวให้สร้างมูลค่าเพิ่ม และให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านต่างๆ โดยการเปิดเออีซีจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ และเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ที่ผ่านมา การที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ไม่มีศักยภาพพื้นฐานโดดเด่น แต่กลับพัฒนาได้ดีกว่า เพราะให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน”

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องสินค้าที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะสิ่งทอยังมีโอกาสในการแข่งขันอีกมาก แต่จะต้องยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถทดแทนตลาดจีน

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มองว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อกับทางสหรัฐฯ ได้ ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ทำให้ประเทศเป็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เมื่อมีการรวมตัวเป็นเออีซีแล้ว ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดความสนใจจากสหรัฐฯ ได้ แต่ในทางกลับกัน หากประเทศไทยไม่มีความพร้อม ความน่าสนใจของประเทศไทยในอาเซียนจะลดลง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อย่างในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานสัมมนา พลิกเส้นทางพัฒนา...สถาปนาความมั่งคั่งใหม่ให้ประเทศ จัดโดยสถาบันอนาคตไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการวิจัยพัฒนาที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของภาคเอกชน

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขจะต้องร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล เอกชน และนักวิชาการ ซึ่งจะต้องร่วมกันวิจัย และพัฒนาเพื่อนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญที่ผ่านมา ภาครัฐยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังที่ผลักดันด้านการพัฒนานวัตกรรม และการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์สินค้า

“ผมไม่ห่วงบริษัทขนาดใหญ่ เพราะสามารถมีเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ไม่ทุนในการวิจัย ดังนั้น เป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านวิจัย และพัฒนาเอสเอ็มอี”

ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ผลสำรวจเอสเอ็มอีกว่าร้อยละ 70 ไม่รู้จักการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (เออีซี) และล่าสุด ที่ส่วนใหญ่เอสเอ็มอีทราบเรื่องการเปิดเออีซีปี 2558 แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลดีผลเสียอย่างไรต่อธุรกิจ และยังไม่สามารถที่จะปรับตัวได้

คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต่อไปนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ควรร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อนำบทวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมา ภาควิชาการ และภาคเอกชนยังขาดความร่วมมือกันอย่างจริงจัง

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ขณะนี้ประเทศเกาหลีเริ่มเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายบริษัทในประเทศไทยได้รับผลกระทบเนื่องจากการแข่งขันด้านราคา โดยกำไรของเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ วิธีการรับมือเพื่อความอยู่รอดของบริษัทในการปรับกลยุทธ์คือ การเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยการทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกับหลายฝ่าย เช่น บริษัทจากญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเอกชนเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน บริษัทเคยได้รับโอกาสในการศึกษาการผลิตสาเก จากประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการขยายฐานมาผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเป็นการวิจัยอย่างเต็มรูปแบบทั้งบรรจุภัณฑ์ และการคิดค้นการลดต้นทุนในทุกด้าน รวมถึงการวิจัยพันธุ์ข้าว ถือได้ว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย

ทั้งนี้ รูปแบบของการพัฒนาจะต้องได้รับความร่วมมือในการบริหารจัดการของรัฐบาล ขณะที่ภาคเอกชนมองไทยเมื่อเทียบกับอาเซียน ประเทศไทยมีความมั่นคงและความพร้อม และได้เปรียบในการทำการตลาด สำหรับการเปิดเออีซีเอกชนจะต้องมีความพร้อม เพราะไม่ใช่การเปิดเออีซีแล้วจะสามารถเข้าไปได้ทันที จะต้องพร้อมในเรื่องของบุคลากร ทักษะ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับตัวอย่างมากในภาคเอกชนเพื่อรับการเปิดเออีซี

“รูปแบบการสนับสนุนในปัจจุบันองค์กรของรัฐที่ให้การสนับสนุนอาจมีความซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความสับสน ดังนั้น เพื่อความชัดเจนของอนาคตประเทศไทย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อสะท้อนความคิดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการต่างๆ” นายฐาปนกล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น