ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดปีนี้ บจ.เพิ่มทุนแตะ 2.5 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี เพื่อนำเงินขยายกิจการ-ภาวะตลาดเอื้อ บริษัทเพิ่มทุนสูงสุดปีนี้ ปตท.สผ.9.8 หมื่นล้านบาท รองมาแบงก์กรุงไทย 3.5 หมื่นล้านบาท “ชนิตร” คาดเพิ่มทุนปี 56 ต่ำกว่าปีนี้ เหตุหุ้นขนาดใหญ่เพิ่มทุนเกือบหมดแล้วเหลือบริษัทขนาดกลาง-เล็ก
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่ามูลค่าการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากมูลค่าการเพิ่มทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ 8.1-8.2 หมื่นล้านบาท และในช่วง 2 เดือนที่เหลือนี้ จะมีการเพิ่มทุนรวม 1.28 แสนล้านบาท คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP จะเพิ่มทุน 9.8 หมื่นล้านบาท และธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จะมีการเพิ่มทุน 3 หมื่นล้านบาท และบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP ที่จะเข้ามาเพิ่มทุนในช่วงปลายปีอีก
ทั้งนี้ การที่ บจ.มีการเพิ่มทุนในปีนี้จำนวนมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมา บจ.มีการออกตราสารนี้จำนวนมาก ซึ่งทางสมาคมตราสารหนี้ไทยคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการออก 4.5 แสนล้านบาท ทำให้เมื่อบริษัทต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มก็จะมีการเพิ่มทุนเพื่อที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทมีการสมดุลกัน ซึ่งเมื่อมีการเพิ่มนี้แล้วก็จะต้องมีการเพิ่มทุน ประกอบกับการเพิ่มทุนนั้นยังช่วยทำให้สภาพคล่องหุ้นมีมากขึ้น โดย 5 อันดับแรกของ บจ.ที่เพิ่มทุนสูงสุดในปีนี้ ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.ธนาคารกรุงไทย 3.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF 4.บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI 5.บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF
สำหรับแนวโน้มการเพิ่มทุนของ บจ.ในปีหน้า คาดว่ามูลค่าการเพิ่มทุนจะต่ำกว่าปีนี้ เนื่องจากปีนี้หุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) ได้มีการเพิ่มทุนไปเกือบหมดแล้ว โดย บจ.ที่จะมีการเพิ่มทุนนั้นก็จะเป็นบริษัทขนาดกลาง และเล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และ D/E ของ บจ.เฉลี่ยที่ 0.5 เท่านั้น ทำให้มีโอกาสในการกู้ได้ แต่มีบางบริษัที่สนใจที่จะเพิ่มทุนมากกว่าการกู้
นายชนิตร กล่าว่า นอกจาก บจ.จะนิยมเพิ่มทุนแล้ว ยังมีอีก 33 บริษัทที่ได้หันมาออกหุ้นปันผล (Stock Dividend) ด้วย ซึ่งได้ส่งผลให้ปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาด (Free Float) โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 40% จากก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับราว 30% ดังนั้น จึงช่วยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนใน บจ.ไทยได้แล้วราว 21-22 บริษัท จากที่มีมูลค่ามาร์เกตแคป 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ประเมินว่าจะมีบริษัทเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เข้ามาจดทะเบียนอีกประมาณ 9 บริษัท ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ซึ่งจะทำให้มียอดไอพีโอรวมเข้าจดทะเบียนปีนี้รวมเป็นประมาณ 25-26 บริษัท ซึ่งรวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าจดทะบเยนปีนี้ 5 กองทุน
“ปกติแล้วในช่วงเดือนธันวาคมนั้นจะไม่มีหุ้นไอพีโอ ที่จะเข้าซื้อขายจากที่จะเป็นวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และนักลงทุนต่างประเทศเริ่มชะลอการซื้อขายแล้ว แต่ปีนี้ยังมีหุ้นไอพีโอที่จองวันจะเข้าเทรด เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยดี และ นักลงทุนในประเทศให้ความสนใจเข้าลงทุนในหุ้นไอพีโอจำนวนมาก ซึ่งเห็นจากราคาหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100% ทุกบริษัท จึงทำให้บริษัทต้องการที่จะเข้ามาเทรด” นายชนิตรกล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้มการเข้าจดทะเบียนของหุ้นไอพีโอปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากเชื่อว่าภาวะตลาดหุ้นไทยจะดีต่อเนื่อง โดยหุ้นที่จะเข้าจดทะเบียนนั้นจะเป็นลักษณะที่เป็นแบรนด์ เช่น ทีวี ไดเร็ค บริษัท ฮอท พอท ที่จะต้องการสร้างแบรนด์ของตนเอง ธุรกิจอาหาร รถยนต์ เนื่องจากเป็นที่สนใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ