“แม้เพียงการขยับปีกของผีเสื้อ ก็สามารถก่อพายุได้” หรือ Butterfly Effect นั้น เป็นการอธิบายโลกการเงินในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั้งของยูโรโซนที่มีการออกมาตรการแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาล และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ได้ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงิน และการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยในวันที่ 17 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการตัดสินใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.75%
โดยตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอัตราดอกเบี้ย ก็ย่อมที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือ เมื่อธนาคารกลางตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับลงตามไปด้วย ครั้นแล้วอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศก็จะต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศมากขึ้น และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในประเทศมีการอ่อนตัวเช่นกัน
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเกิดขึ้น ก็จะส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากว่าราคาทองคำในตลาดโลกได้ถูกกำหนดในหน่วยของเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นแล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำในตลาดโลกก็ตาม
กราฟแสดงการเปรียบเทียบราคาทองคำในตลาดโลก (ดอลลาร์ต่อออนซ์) กับอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทก็คือ ความต้องการซื้อ และความต้องการขายของเงินบาท จากการที่ประเทศไทยได้มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ และจากกราฟข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า ราคาทองคำในตลาดโลกมักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินบาท ดังนั้นแล้ว สำหรับนักลงทุนทองคำในประเทศนอกจากจะต้องสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว อาจต้องสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทด้วย