xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” FB ชำแหละ “จำนำข้าว” ทำหนี้สาธารณะท่วม เตือนปัญหาอาจซ้ำรอยกรีซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
อดีตขุนคลัง “รบ.ปู” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” ชำแหละโครงการ “จำนำข้าว” ทำหนี้สาธารณะท่วม ชี้สุดอันตราย มีโอกาสซ้ำรอยกรีซ พร้อมยอมรับตัวเลขหนี้รัฐของไทยล้าหลัง กระทุ้ง “คลัง-ธปท.” ต้องหารือรับมือ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนเฟซบุ๊ก ส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” วิพากษ์โครงการจำนำข้าว โดยมองว่า ขณะนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก กรณีโครงการจำนำข้าวมีความเสี่ยงด้านทุจริตมากหรือไม่ หรือชาวนาจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ การถกเถียงเรื่องโครงการประชานิยมแบบนี้ จึงมักจะเน้นข้อขัดแย้งกันในทางความคิดทางการเมืองเป็นสำคัญ

- แต่มีประเด็นทางวิชาการเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับโครงการประชานิยมอยู่สองประเด็นที่ประชาชนควรทราบ และเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง

- ประเด็นที่หนึ่งคือ ผลร้ายต่อหนี้สาธารณะ

- โครงการประชานิยมนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้อาจจะเป็นผู้ที่ด้อยโอกาสก็ได้ หรืออาจจะเป็นผู้ที่ไม่ด้อยโอกาสก็ได้

- ในประเด็นว่า โครงการประชานิยมใดเป็นโครงการที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ผมจะไม่วิจารณ์

- แต่ผมอยากจะชี้ว่า โครงการประชานิยมจะเป็นโทษแก่ประเทศหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลนำเงินจากแหล่งใดมาใช้

- หากรัฐบาลใช้วิธีเก็บภาษีเพิ่ม จะไม่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นการเอาภาษีจากคนหนึ่ง ไปเอื้อประโยชน์แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งหากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการประชานิยม รัฐบาลก็ทำได้โดยชอบ

- แต่หากรัฐบาลไม่ใช้วิธีเก็บภาษีเพิ่ม รัฐบาลก็ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ

- และในทางทฤษฎีนั้น หากมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นๆ มากจนเกินไป เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ประเทศไทยก็อาจจะเข้าสภาวะมีหนี้ล้นพ้นตัว และอาจจะประสบปัญหาทำนองเดียวกับประเทศกรีซ

- ปัญหาคือ ตัวเลขหนี้สาธารณะที่คำนวณตามกฎหมายนั้น มักจะเป็นตัวเลขที่ล้าหลัง เพราะกระทรวงการคลังทำบัญชีด้วยวิธีเงินสดเป็นหลัก

- กล่าวคือ ถึงแม้ในข้อเท็จจริงรัฐบาลจะมีภาระหนี้เกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการประชานิยมเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่กระทรวงการคลังจะนับเป็นหนี้สาธารณะก็ต่อเมื่อมีการเคลียร์โครงการ และปิดบัญชีได้แล้ว ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทยจึงไม่ทันสมัย ไม่เป็นปัจจุบัน และไม่สะท้อนภาระที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด

- ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่หากรัฐบาลเปิดโครงการประชานิยมโครงการแล้วโครงการเล่า อันจะมีผลทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่นักวิเคราะห์ไม่สามารถประเมินได้ว่า หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด

- ผมจึงมีความเห็นว่า กระทรวงการคลังควรจะมีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อหนี้สาธารณะจากโครงการประชานิยมทุกโครงการ โดยทำเป็นประจำทุกไตรมาส แล้วควรประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะที่รวมถึงตัวเลขดังกล่าวเป็นการทั่วไปด้วยทุกไตรมาส

- การประเมินตัวเลขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว กระทรวงการคลังควรใช้องค์กรที่มีความรู้ และหากไม่สามารถหาองค์กรที่ประเมินตัวเลขดังกล่าวได้ หรือหากมีปัญหาในการประเมินไม่ว่าประการใด ก็ควรจะนับภาระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารของรัฐไปกู้ยืมมาเฉพาะเพื่อโครงการประชานิยมนั้นๆ เป็นหนี้สาธารณะทั้งจำนวนไว้ก่อน

- การดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้การบริหารหนี้สาธารณะของประเทศไทยเป็นไปโดยโปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือแก่นักวิเคราะห์สากล รวมถึงสถาบันจัดอันดับต่างๆ และจะช่วยทำให้รัฐบาลเองตระหนักถึงภาระต่อประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างครบถ้วนด้วย

- ประเด็นที่สอง คือ โครงการประชานิยมนั้นมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน

- ในเรื่องนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า การที่ประเทศจะก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้นั้น จะต้องมีการลงทุนภาคเอกชนมากต่อเนื่องทุกปี เพราะการลงทุนจะช่วยเพิ่มผลผลิตในอนาคต ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

- ดังนั้น หากมีปัจจัยใดที่กระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็จะกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง

- ถามว่านักธุรกิจเอกชนที่จะตัดสินใจลงทุนขยายกิจการนั้น เขาจะพิจารณาปัจจัยใด

- นักธุรกิจจะพิจารณาหลายปัจจัยครับ แต่อัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่ง หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง การลงทุนก็จะน้อย หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนก็จะมาก

- ส่วนการใช้เงินโดยรัฐบาลนั้น หากรัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศเติบโตในปีต่อๆ ไป

- แต่รัฐบาลดำเนินโครงการประชานิยมที่มีผลกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายในเรื่องอุปโภคบริโภคนั้น โครงการประชานิยมจะมีผลเน้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเฉพาะในปีนี้เป็นสำคัญ

- ปัญหาคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอุปโภคบริโภคนั้น หากทำมากเกินไป ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็ว

- แต่จะมีผลกดดันเงินเฟ้อให้สูง

- เมื่อนโยบายประชานิยมของรัฐบาลมีผลกดดดันเงินเฟ้อให้สูง ธนาคารแห่งประเทศไทยย่อมไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ และย่อมมีผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน

- ผมจึงมีความเห็นว่า กระทรวงการคลังควรจะมีการปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประเมินว่า โครงการประชานิยมมีผลดังที่ว่านี้หรือไม่ และหากมีจะมีวิธีการลดทอนผลกระทบดังกล่าวได้อย่างไร


จำนำข้าวเลิกไม่ได้ต้องเดินหน้าฉิบหายช่างมัน-ไม่ใช่เงินแม้ว !!
จำนำข้าวเลิกไม่ได้ต้องเดินหน้าฉิบหายช่างมัน-ไม่ใช่เงินแม้ว !!
อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเดินหน้าถอยไม่ได้ก็อาจเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวเวลานี้กลายเป็นนโยบายประชานิยมหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีการโปรโมตทั้งในช่วงหาเสียงและเมื่อเป็นรัฐบาล และที่สำคัญเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการ “ประกันรายได้” ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้ายกเลิกนั่นก็หมายความว่าโครงการของพรรคเพื่อไทยนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่งผลเสียทางการเมืองในแบบที่ประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะความหมายของคำว่า “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ ยิ่งลักษณ์นำไปปฏิบัติ” มันจะหมดความหมายทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น