“สุริยะใส” รับเสียดายศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเบรกจำนำข้าว ชี้ทำสังคมเสียช่องทางสอบนโยบายรัฐ เชื่อตุลาการลำบากใจเหตุมีอำนาจวินิจฉัยแค่ร่าง กม. แนะทุกฝ่ายคิดจะหาทางตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพกว่าในสภาได้ยังไง จวกรัฐอ้างชาวนาหาประโยชน์มีแต่พวกธุรกิจข้าวที่ได้ งงสยามอินดิก้าได้โควตาข้าวมายังไง หวั่นเกิดผูกขาดข้าวทำรายอื่นล้ม
วันนี้ (10 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า ตนเห็นว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของเครือข่ายนักวิชาการที่ยื่นร้องให้วินิจฉัยว่านโยบายรับจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น แม้จะเคารพคำวินิจฉัย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะมีช่องทางในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการติดสินบนทางนโยบายหรือแนวนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะรุนแรงขึ้นเพียงเพื่อหวังผลระยะสั้นไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว ซึ่งคำร้องครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะเป็นความพยายามที่จะหาช่องทางหรือสร้างกลไกตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยเฉพาะร่างกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น จึงอาจทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลำบากใจที่จะรับคำร้องไว้วินิจฉัย
“แต่การบ้านที่สังคมต้องคิดกันต่อคือ จะทำให้การตรวจสอบและประเมินนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพได้มากกว่าการอภิปรายในสภาหรือผลการเลือกตั้งได้อย่างไร เพราะพรรคที่ถือเสียงข้างมากอาจจะฉวยโอกาสสร้างกลลวงทางนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องและทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ แต่เลือกตั้งเมื่อไหร่แนวนโยบายแบบนี้ก็ชนะกลับมาอีก สังคมจึงควรมีกลไกตรวจสอบนโยบายที่เข้มข้นมากขึ้น” นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใสกล่าวว่า ประเด็นคำร้องของเครือข่ายนักวิชาการและหลายภาคส่วนทางสังคมหรือแม้แต่คนในรัฐบาลที่เป็นห่วงนโยบายรับจำนำข้าวก็ควรจะได้รับการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป เพราะนโยบายนี้เป็นการอ้างชาวนามาหาประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือกลุ่มที่ทำธุรกิจเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นโรงสี พ่อค้าข้าว หรือนายทุนที่เริ่มลงทุนในรูปแบบอุตสาหกรรมทำนามากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำนักธุรกิจต่างชาติแถบอาหรับมาศึกษาการลงทุนทำนาและมีความพยายามกว๊านซื้อที่ดินไปจำนวนมาก จนคนที่เคยเป็นชาวนาจริงกลายเป็นชาวนารับจ้างไปแล้ว
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า ที่สำคัญพ่อค้าส่งออกข้าวที่ได้โควตาส่งออกอันดันหนึ่งในตอนนี้ คือ บริษัทสยามอินดิก้า ได้เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งในปริมาณ 475,000 ตัน ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.ปีนี้ ซึ่งปีที่แล้วบริษัทส่งออกแค่ 200,000 ตันเท่านั้น จึงน่าสงสัยว่าบริษัทนี้ได้โควตาข้าวมาจากไหน อย่างไร เพราะปีนี้ชนะการประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวแค่ 300,000 ตันเพื่อส่งออก เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการแอบซื้อขายกัน อย่างที่ดีเอสไอก็เคยตรวจสอบพบว่าการซื้อขายแต่ละครั้งห้ามเกิน 100,000 ตัน แต่มีการเจรจาซื้อขายเกินปริมาณที่กำหนดมากกว่า 10 ครั้ง ซึ่งบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นตัวแทนของเพรซิเดนซ์ อกริ เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ จนหลายฝ่ายมองว่าจะเกิดการผูกขาดการส่งออกข้าว ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นล้มละลาย อาจเป็นแผนตีเมืองขึ้น ทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่มีทางทบทวนนโยบายนี้อย่างเด็ดขาด