xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษาพลิกคดี TPI ใหม่ ให้เจ้าหนี้ชดใช้ความเสียหาย 1.9 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลฎีกามีคำพิพากษาพลิกคดีทีพีไอใหม่ ให้ศาลล้มละลายกลางรับฟ้อง และดำเนินการพิจารณากรณีเจ้าหนี้ทีพีไอร่วมกันดำเนินการกับผู้ทำแผนโดยไม่สุจริต และไม่ชอบดัวยกฎหมาย ทำให้บริษัทเสียหาย 190,380,602,973 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

รายงานข่าวจากศาลฎีกา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2405/2547 ของศาลล้มละลายกลาง ระหว่าง นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่ 1 นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ ที่ 2 นายประทีป เลี่ยวไพรัตน์ ที่ 3 บริษัท เลียวไพรัตน์วิสาหกิจ จำกัด ที่ 4 บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI)ที่ 5

โจทก์ บริษัท เอ็กเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด ที่ 1 บริษัท เนชั่นแนล แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ที่ 2 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ 3 บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ที่ 4 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ 5 ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น ที่ 6 ธนาคารซิตี้แบงก์ ที่ 7 ธนาคารเครดิตอันชดาลท์ ฟูร์ วีเดอร์เอาฟ์ บาว ที่ 8 จำเลย

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท โจทก์ที่ 5 จำนวนประมาณ 1,198,401,778 หุ้น หรือประมาณร้อยละ 61.4 ของหุ้นทั้งหมด (1,950,000,000 หุ้น) ซึ่งหุ้นจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นที่ถือโดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 จำนวน 88,756,218 หุ้น 62,775,149 หุ้น 66,479,816 หุ้น ตามลำดับ และถือโดยโจทก์ที่ 4 ณ วันที่ 12 เมษายน 2542 จำนวน 557,405,010 หุ้น ครั้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543

ต่อมา โจทก์ที่ 5 ถูกจำเลยที่ 3 (แบงก์กรุงเทพฯ) ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รวม 5 ราย ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ที่ 5 ต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ที่ 5 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 (แบงก์กรุงเทพฯ) ถึงที่ 8 ร่วมกันดำเนินการให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำแผนโดยไม่สุจริต และไม่ชอบดัวยกฎหมาย โดยมีมติเลือกให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำแผนของโจทก์ที่ 5 และต่อมา จำเลยที่ 3 (แบงก์กรุงเทพฯ) ถึงที่ 8 มีมติยอมรับแผน และให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารแผนของโจทก์ที่ 5

ทั้งนี้ จำเลยทั้งแปดร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยที่ 3 (แบงก์กรุงเทพฯ) ถึงที่ 8 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้อาศัยช่องว่างของกฎหมาย หมวด 3/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2543 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นเครื่องมือทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า

ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เบิกจากโจทก์ที่ 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นจำนวน 1,231,000,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวน 1,029,000,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันทำให้โจทก์ที่ 5 ขาดรายได้เป็นเงินจำนวน 22,238,000,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 มีมูลค่าลดลงเป็นเงินจำนวน 1,428,312,423 บาท โจทก์ที่ 2 มีมูลค่าลดลงเป็นเงินจำนวน 1,008,796,644 บาท โจทก์ที่ 3 มีมูลค่าลดลงเป็นเงินจำนวน 1,068,330,643 บาท โจทก์ที่ 4 มีมูลค่าลดลงเป็นเงินจำนวน 89,574,983,660 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่ 5 มีมูลค่าลดลงเป็นเงินจำนวน 71,791,000,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ที่ 5 ต้องรับภาระภาษีเงินเพิ่มจากการแปลงดอกเบี้ยค้างจ่ายเป็นทุน เป็นเงินจำนวน 1,011,179,603 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 190,380,602,973 บาท

จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันและหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงินจำนวน 190,380,602,973 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งแปดจะร่วมกัน หรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าเสร็จสิ้น ซึ่งศาลล้มละลายกลางตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมของโจทก์แต่ละรายให้เป็นพับ เหตุที่ศาลล้มละลายกลางยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ผู้เสียหาย

ดังนั้น โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งห้าขอถอนอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตแล้วตามคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ ล.32/2552 ซึ่งล่าสุด ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการทำละเมิด ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลล้มละลายกลางรับฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ไว้พิจารณา โดยให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น