xs
xsm
sm
md
lg

ทีเอ็มบีลั่นพร้อมรับ Basel 3 เงินกองทุนแกร่ง-คงเป้าสินเชื่อ 15%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีเอ็มบีพร้อมรับ Basel 3 ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 51 แล้ว โดยเร่งกระจายพอร์ตเงินฝากให้สอดคล้องกับสินเชื่อ ดันฐานเงินฝากรายย่อยเพิ่มเป็น 65% มั่นใจไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก 3 ปี ขณะนี้ Tier 1 อยู่ที่ 11-12% ยันเป้าสินเชื่อปีนี้โต 15% หันลุยปล่อยกู้ SME ทดแทนส่งออกหด

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการเตรียมการปรับตัวเพื่อรองรับการปฏิบัติตามเกณฑ์ Basel 3 มาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว โดยได้วางกลยุทธ์ด้านเงินฝากให้มีต้นทุนต่ำ และมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าอย่างเหมาะสม และมีรูปแบบเงินฝากที่เป็น Connect Communities ทำให้ในปัจจุบัน ฐานลูกค้ารายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 65% ถือเป็นการกระจายพอร์ตให้มีความสมดุล และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ตามที่ธนาคารได้มีการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าจากเงินฝากแต่ละประเภท และลูกค้าในแต่ละกลุ่มมาแล้ว

“การปฏิบัติตามเกณฑ์ basel 3 อาจจะทำให้การบริหารสภาพคล่องของธนาคารมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น การบริหารสภาพคล่องของธนาคารจะต้องมีการวางกลยุทธ์ใหม่ จากปัจจุบันที่ระบบธนาคารจะเป็นการรับเงินฝากระยะสั้นเพื่อปล่อยกู้ระยะยาว ซึ่งในส่วนนี้ทีเอ็มบีได้ปรับตัวไว้แล้วเพื่อรองรับ”

นอกจากนี้ ธนาคารยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนอย่างน้อยอีก 3 ปี เพื่อรองรับการดำเนินการตามเกณฑ์กำกับดูแล basel 3 โดยขณะนี้ ธนาคารมีระดับเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 11-12% หลังจากที่ได้มีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18-19% โดยถือว่าอยู่ในระดับสูง

ยันคงเป้าสินเชื่อโต 15%

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ จะยังคงเป้าการเติบโตไว้ที่ 15% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 6% แม้ว่าภาคการส่งออกจะชะลอตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ธนาคารจะหันมารุกปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทดแทน เพื่อดันสินเชื่อให้สามารถเติบโตตามเป้าหมายได้

นายบุญทักษ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การใช้วงเงินกู้หมุนเวียนของลูกค้าส่งออกลดลง เพื่อลดต้นทุนหลังจากราคาขายสินค้าต่อหน่วยปรับลดลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบเป้าสินเชื่อโดยรวม ธนาคารจึงต้องปรับกลยุทธ์หันไปเร่งการขยายตัวของสินเชื่อ SME มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่กว้าง ยังมีผู้ประกอบจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ต้องมีกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ และบริการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวด้วย

“การส่งออกมีมูลค่าลดลงมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ทำให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนลดลง และน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ยังเห็นไม่ชัดว่ากลุ่มไหนที่น่าเป็นห่วง แต่เชื่อว่านักธุรกิจน่าจะเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น และยังมีสภาพคล่องเพียงพอ โดย ณ ขณะนี้ทางแบงก์ยังไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม”

ล่าสุด ได้ออก TMB Supply Chain Solutions เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าธุรกิจในการซื้อ-ขายสินค้าเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพในการซื้อขายสินค้าระหว่างคู่ค้า ตลอดจนซัปพลายเชน โดยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเช็ค ด้านการจัดการเงินสดของทั้งระบบโดยรวมมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังลดปัญหาความสูญเสียจากธนบัตรปลอม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการออกบัตรประเภทนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น