ทีเอ็มบีจับมือ BCEL แบงก์ใหญ่สุดของลาว ทำธุรกรรมต่างประเทศ พร้อมเตรียมร่วมกับอีกหลายประเทศในอาเซียน ตอบรับรับ AEC ยันยงคงเป้าหมายทางธุรกิจเดิม คาดวิกฤตยูโรโซนไม่กระทบมาก
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ในส่วนของภาคการเงินซึ่งประกอบด้วยธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด ได้จับมือกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao หรือ BCEL) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชานลาว เป็นตัวแทนในการทำธุรกรรม Cash Management Service และ Trade Finance ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าธุรกิจได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม การให้บริการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการรออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
“กลยุทธ์สำคัญที่ทีเอ็มบีกำลังก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การสร้างเครือข่ายที่เข็มแข็งกับสถาบันการเงินชั้นนำในอาเซียนให้เป็นตัวแทนส่งมอบธุรกรรมทางการเงินให้ลูกค้าธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ต้องเป็นความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างพันธมิตรทางการเงิน เพื่อให้ลูกค้าธุรกิจใช้บริการได้จริง“
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของทีเอ็มบีที่เข้าไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว เช่น กลุ่มบริษัท ซีพี โดยใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ สำหรับธุรกิจด้านอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูก ซึ่งทำให้มีความสะดวกต่อการนำวัตถุดิบเข้าไปยัง สปป.ลาว และส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมายังประเทศไทย ด้านกลุ่มบริษัท บจก.นันยางเท็กซ์ไทล์ ใช้บริการด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ากีฬาและเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งผลิตโดยบริษัทในเครือ ในนามบริษัท Trimax เป็นต้น
นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังมีแผนงานจะสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ต่อไป
ไม่หวั่นวิกฤตยุโรปเสี่ยง-ไม่ปรับแผนธุรกิจ
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ธนาคารยังใช้เป้าหมายเดิม ไม่ว่าเป็นด้านสินเชื่อหรืออื่นๆ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยแผนธุรกิจที่ธนาคารวางไว้ครอบคลุมการดำเนินงานในช่วง 5 ปี เชื่อว่าจะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้