บิ๊กแบงก์กรุงเทพคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ เติบโตได้ 4-5% แต่ยังห่วงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เตือนไม่ควรกระตุ้นเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เป็นหลัก พร้อมแนะผู้ประกอบการปรับตัวใน 3 ด้าน “นวัตกรรม-บริหารจัดการ-โนว์ฮาว”
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ในส่วนของตัวเลขจีดีพีจะไม่มีปํญหา เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 ของปีก่อน ตัวเลขติดลบจากภาวะน้ำท่วม แต่ก็จะเห็นบทบาทของภาครัฐที่จะต้องเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การบริโภค-ลงทุนของภาคเอกชนจะแผ่วลงบ้างจากภาวะเศรษฐกิจของโลก และภูมิภาคที่เติบโตชะลอลงบ้าง
สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ตั้งลิมิตไว้ 60% นั้น โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ยึดเรื่องอัตราส่วนดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ไม่ควรจะกระตุ้นด้วยหนี้สินเพราะจะไม่ยั่งยืน เมื่อถึงระดับหนึ่งแล้วหนี้ก็จะกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินของภาคเอกชน หรือรัฐบาล รวมทั้งต้องดูว่าการกระตุ้นที่เกิดขึ้นได้ทำให้มีอะไรงอกเงยขึ้นมา แต่ในภาวะเศรษฐกิจโลก และภูมิภาคขณะนี้อาจจะไม่เอื้อนัก ก็จะเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังต่อไป
“ตัวเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าจะตั้งไว้เท่าไหร่ อย่างกรีซมีหนี้แค่ 40% แต่จีดีพีติดลบ การบริหารจัดการไม่ดี ไม่นานหนี้ก็ขึ้นเป็น 80-90% ได้ ทีนี้ถ้าไม่ควรขับเคลื่อนด้วยหนี้ แล้วจะขับเคลื่อนด้วยอะไร ก็ต้องด้วยตัวเอง ต้องหาช่องทางในการหารายได้ของตนเอง”
ส่วนในปีหน้า คาดว่าจีดีพีจะเติบโตในระดับปกติที่ 4-5% ขณะที่การเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยก็จะเป็นไปตามความต้องการของสินเชื่อ ซึ่งยังดูต่อไปว่าจะยังขยายตัวได้ในระดับสูงหรือไม่
ด้านการเตรียมพร้อมรับการเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น ทางธนาคารก็ได้จัดโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเตรียมพร้อมจะประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านนวัตกรรม การบริหารการจัดการที่ดี และการเรียนรู้ดวยการปฏิบัติ (Know how) โดยธนาคารได้ร่วมกับชมรมบัวหลวง SME จัดสัมมนาในหัวข้อการแข่งขันธุรกิจในยุค AEC ซึ่งจะเน้นให้ความรู้ในเรื่อง Know how แก่ผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
นายโฆสิตกล่าวอีกว่า กลุ่มธุรกิจของไทยนั้น เชื่อว่าทุกกลุ่มมีศักยภาพเพียงพอต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีซปพพลาย เชนที่ดี ไม่ว่าจะเป็น เกษตร ยานยนต์ อาหาร ท่องเที่ยว แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มต้องมีการปรับตัวให้พร้อมด้วย