บิ๊กแบงก์กสิกรไทย เชื่อสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่เตรียมพร้อมรับเออีซีแล้ว แนะรัฐควรลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งด้านการศึกษา ขนส่ง และกฎหมายรองรับ ประเมินกำไรแบงก์ครึ่งปีหลังยังไปได้สวย
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ของยุโรปต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น คงจะมีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นผลกระทบทางอ้อม และสถาบันการเงิน หรือนักลงทุนไทยก็ไม่ได้ลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศที่มีปัญหามากนัก
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภาวะการแข่งขันของประเทศคู่ค้า ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกก็อาจต้องปรับตัว หาตลาดใหม่ในอาเซียน โดยเชื่อว่า ตลาดอาเซียนจะสามารถทดแทนได้ในระดับหนึ่ง”
นอกจากนี้ สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไว้ในระดับหนึ่งแล้ว รวมถึงความพร้อมในการรับมือจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในระดับหนึ่ง จะมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละแห่ง
ด้านรัฐบาลควรทำหน้าที่ในการเตรียมความพร้อม และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแบบที่มีความเป็นรูปธรรม และมีเนื้อหาสาระที่สามารถตรวจสอบคุณภาพของการดำเนินงานได้ โดยโครงสร้างที่มีความสำคัญ ได้แก่ ด้านการศึกษา การขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม และการวางกฎกติกา และข้อกฎหมายต่างๆ
คาดกำไรแบงก์ครึ่งปีหลังยังโตได้
นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมั่นใจกำไรในครึ่งหลังปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องสอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ ธนาคารยังวางเป้าหมายส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปีนี้อยู่ที่ 3.5% ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในปีนี้ลดลงจากปีก่อน เหลือมาอยู่ที่ 46% ซึ่งมาจากการใช้เครือของธนาคารในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยธนาคารยังคงเป้าสินเชื่อปี 55 เติบโต 9-11% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อเติบโตแล้ว 3.7%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนไปจนถึงปี 2559 แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมนำเกณฑ์บาเซิล 3 มากำกับดูแลสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป เนื่องจากผลการดำเนินงานของธนาคารยังเติบโตได้ดี ทั้งการทำกำไร และระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ยังแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน ธนาคารยังไม่มีความจำเป็นต้องออกหุ้นกู้เพิ่มอีก ซึ่งล่าสุด ได้มีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ 2.2 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2