xs
xsm
sm
md
lg

“บัณฑูร” แนะทางรอดรับ AEC-ห่วงการเมืองอ่อนฉุดศักยภาพธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บัณฑูร” ชี้ทางรอดธุรกิจไทยภายใต้โจทย์ที่ท้าทายขึ้นหลังเกิด AEC แนะเร่งพัฒนา 3 ปัจจัย “ระบบการศึกษา-โทรคมนาคม-กฏหมาย” ระบุ “การเมือง” ต้องมีเสถียรภาพ จึงจะขับเคลื่อนด้านอื่นต่อไปได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) )(KBANK) กล่าวในงานสัมมนา AEC ก้าวใหม่ธุรกิจไทย รุกอย่างมีชั้น รับอย่างมีเชิง ว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีเส้นทางที่พอจะเดินต่อไปได้ เนื่องจากมีเงินทุนที่มาก แต่ในธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กที่เงินทุนไม่มากนัก ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาเรื่องของการแข่งขันที่มากขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นแรงกดดัน ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กต้องพัฒนาตนเองให้มาก ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

“ธุรกิจจะอยู่รอดหรือไม่ หากจะอยู่รอดต้องหาเส้นทางที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง ทั้งโจทย์เรื่องของการพัฒนาสินค้า และประสิทธิภาพ จะต้องตีโจทย์ให้เรื่องนี้ให้แตก รวมถึงเส้นทางที่เหมาะสมกับธุรกิจภายใต้การค้าเสรี และการหาตลาดใหม่ ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับธุรกิจของประเทศไทยขณะนี้”

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคเอกชนเดินหน้าธุรกิจได้อย่างอยู่รอดนั้น ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน 3 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างการศึกษา โครงสร้างโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการติดต่อสื่อสาร หากขาดการบริหารจัดการที่ดี ก็ส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น และโครงสร้างของระบบกฎหมาย โดยหากทั้ง 3 เรื่องนี้มีความชัดเจน และแข็งแกร่งเพียงพอ ก็จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถรู้ถึงเส้นทางในการสร้างยุทธศาสตร์ของธุรกิจของตนเอง แต่ขณะเดียวกัน หากไม่เร่งพัฒนาปรับปรุงเรื่องดังกล่าว ก็จะทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันได้

“ระบบการเมืองที่ดีเท่านั้นที่จะแก้ได้ ภาคเอกชนจะเดินต่อไปได้ต้องอาศัยระบบการเมืองที่ดี กฎหมายของไทยก็ต้องมีความชัดเจน ขณะเดียวกัน ระหว่างปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปกับการเมือง การเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากหน่อย หากไม่เร่งปรับปรุงระบบสถาบันการเมืองให้มีเสถียรภาพ ก็จะทำให้ภาคธุรกิจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ส่วนปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปในภาคธุรกิจยังเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้อยู่” นายบัณฑูรกล่าว

เชื่อวิกฤติยุโรปไม่กระทบแบงก์ทางตรง

สำหรับภาคการเงินของไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตหนี้สินในยุโรป เนื่องจากไม่ได้มีการทำธุรกรรม หรือลงทุนตราสารหนี้ในยุโรป แต่อาจมีผลกระทบทางอ้อมที่ลูกค้าอาจทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุโรป และทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง
กำลังโหลดความคิดเห็น