“กรณ์” แนะ “รบ.ปู” ปฏิรูปตลาดทุนไทย เพราะโครงสร้างไม่เอื้อต่อการพัฒนา ศก.ประเทศ ภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อกระฉูด 1.5 ล้านล้านบาท สูงกว่าการระดมทุนในตลาดหุ้น อัดจำนำข้าว รายได้ไม่ถึงชาวนาจริง ขณะที่ “กิตติรัตน์” ยืนยัน รบ. ชุดนี้จะไม่แปรรูปตลาดหุ้น อย่างแน่นอน เพราะภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มุ่งหวังสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น ลั่นใส่เกียร์ลุย “จำนำข้าว” เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเกษตรกร ชี้ “การประกันราคา” รั่วไหลยากจริง แต่ทุจริตง่ายทุกขั้นตอน พร้อมแจงสภา
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานดีเบต “ต่างทัศนะ ร่วมมุมมอง พี่น้องตลาดทุน” โดยระบุว่า การพัฒนาตลาดทุนไทย จำเป็นต้องมีการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะโครงสร้างตลาดทุนในปัจจุบัน ไม่เอื้อ และดีพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยตัวชี้วัดไม่ได้มาจากดัชนีตลาดหุ้น แต่สะท้อนจากผลประกอบการ และกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
โดยตั้งแต่ปี 2551-2555 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ปี 2553-2555 บริษัทต้องมีการเพิ่มทุนรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคาร กลับเพิ่มกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น การปฏิรูปจะนำไปสู่การเปิดตลาด และเป็นการให้ผู้ประกอบการได้ระดมทุนได้มากขึ้น และหากมีการควบรวมกับตลาดอื่น จะเป็นการเพิ่มราคาหุ้นให้สูงขึ้นด้วย
นายกรณ์ กล่าวเสริมว่า โครงการการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย และกำลังสร้างความเสียหายต่อระบบข้าว เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ตกกับชาวนาอย่างแท้จริงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อคุณภาพของข้าวไทย เพราะได้รับคำยืนยันจากโรงสีว่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คุณภาพข้าวของประเทศไทยจะตกต่ำลง และไม่สามารถจะแข่งขันกับนานาประเทศได้ จึงอยากขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการดังกล่าวออกไป ซึ่งจะช่วยลดการฟุ่มเฟือยงบประมาณ และยังลดการรั่วไหล รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชันอีกหลาย 100,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่า โครงการการประกันราคาให้แก่เกษตรกรนั้น ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการการรับจำนำอย่างแน่นอน
นากจากนี้ นายกรณ์ยังกล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลในการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยการกู้ยืมเงินนอกระบบงบประมาณ จำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ขัดต่อวินัยทางการคลัง โดยเฉพราะการออก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการใช้งบประมาณ และรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน รวมไปถึงมีการยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่มีการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาทุกโครงการ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทบทวนนโยบายนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตในการตั้งกองทุนมั่นคงว่า สามารถดำเนินการได้ แต่การเมืองห้ามเข้าไปแทรกแซง เนื่องจากพบว่า ประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้ จะมีระดับการคอร์รัปชันอยู่ประมาณร้อยละ 5 ทุกประเทศ
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะไม่ดำเนินการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างแน่นอน เพราะภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มุ่งหวังสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น
ส่วนนโยบายการรับจำนำข้าวนั้น ขอยืนยันว่า จะดำเนินการต่อไป เพราะมีโอกาสสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเห็นว่า การปรับประกันราคามีโอกาสรั่วไหลได้ยาก แต่วิธีการชดเชยราคาให้แก่เกษตรกรนั้น กลับมีปัญหา เพราะชาวนาไม่เคยปลูกข้าว ก็สามารถได้รับสิทธิชดเชยได้ และมีการทุจริตง่ายในทุกขั้นตอน โดยรัฐบาลพร้อมชี้แจงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดในการประชุมสภา