xs
xsm
sm
md
lg

“โสฬส” ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ “เอ็มดี” แบงก์เอสเอ็มอี “วงใน” แฉเบื้องหลังใบสั่งการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โสฬส  สาครวิศว
“โสฬส” ไขก๊อกทิ้งเก้าอี้ “เอ็มดี” แบงก์เอสเอ็มอี หลังโดน “บอร์ด” กดดันหนัก สั่งตั้ง คกก.สอบฯ กล่าวหาปล่อยกู้เอื้อประโยชน์พวกพ้อง วงในแฉการเมืองฟากอุตฯ ย่องล้วงลูก ส่อได้เสีย “เอฟอาร์ซีดี” หมื่นล้าน “คลัง” เตรียมแผนเชือด ชี้ผลสอบ 9 กรณี พบทุจริตเกือบทุกรายการ เตรียมตั้ง “พิชัย” อดีตผู้บริหาร ปตท. เด็กในคาถานักการเมืองเสียบแทน พร้อมแฉ “เอ็นพีแอล” ท่วมแบงก์กว่า 40%

รายงานข่าวจากคณะกรรมการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ แจ้งว่า นายโสฬส สาครวิศว ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ เรียบร้อยแล้ว

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ยอมรับว่า ขณะนี้นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ พร้อมทั้งแสดงความต้องการว่าจะให้สิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่หนังสือสัญญาจ้างกำหนดว่า หากต้องการลาออกจากตำแหน่งจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน

ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีการตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ 1. นายโสฬสไม่ได้มีการแนบเอกสารเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาใบลาออก 2. จากการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคารในเบื้องต้นพบว่า กรณีที่นายโสฬสร้องขอให้มีการสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 4 ตุลาคม 2555 นั้น ยังไม่เข้าข่ายตามที่หนังสือสัญญาจ้างกำหนด ซึ่งตามข้อเท็จจริงคือวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ดังนั้น หากนายโสฬสต้องการลาออกก่อนหนังสือสัญญาจ้างกำหนด ธนาคารมีสิทธิเรียกเงินชดเชยโดยคิดจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่เหลือ และธนาคารยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพิ่มได้อีกด้วย

“นายโสฬสได้ยื่นใบลาออกหลังจากที่ได้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง 9 เรื่อง กรณีที่บริหารงานจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคาร ซึ่งตอนนี้มีข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ส่วนว่าจะมีการพิจารณาให้ลาออกตามเอกสารที่ยื่นหรือไม่นั้นคงต้องรอคณะกรรมการธนาคารพิจารณาอีกที”

ด้านพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร ธพว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการตรวจผลประกอบการของธนาคารย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าผลประกอบการในปี 2555 มีปัญหามากที่สุด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ธนาคารขาดทุนทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 400 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่แสดงในบัญชีอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 18% แต่พบว่ายังมีเอ็นพีแอลที่ไม่ถูกบันทึกบัญชีตามปกติหมุนเวียนอยู่อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

“จากการตรวจสอบพบว่ามีโครงการสินเชื่อที่มีปัญหาชัดเจนหลายโครงการ อาทิ โครงการสินเชื่อเลิกจ้างงาน อัตราดอกเบี้ย 5% ที่ขณะนี้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คณะกรรมการธนาคารอนุมัติให้ปล่อยเพียง 7 พันล้านบาท แต่ธนาคารปล่อยเกินไปถึง 1.2 หมื่นล้านบาท”

ด้านวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแล ธพว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการฟื้นฟูธนาคาร ซึ่งมีนายพิชัยเป็นประธาน และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะใช้ชุดเดิมที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ผลสอบทั้ง 9 กรณีมีข้อสรุปแล้วว่า นายโสฬสทุจริตจริงเกือบทุกกรณี แต่ทางกระทรวงการคลังร้องขอไม่ให้มีการเปิดเผยรายละเอียด เพราะกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อคนในกระทรวงการคลังที่เคยนั่งเป็นคณะกรรมการอยู่ในธนาคารด้วย

“ผลสอบทั้ง 9 กรณีออกมาแล้ว ทุกกรณีชัดเจนว่ามีการทุจริต อาทิ โครงการจัดซื้อจัดจ้างทำระบบคอลแบงกิ้งของธนาคารมูลค่า 300 ล้านบาท ที่ตามกฎหมายของธนาคารระบุว่าไม่สามารถรับฝากเงินได้ แต่ระบบที่ติดตั้งกลับมีระบบรับฝากเงิน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารต้องจ่ายเงินแพงกว่าที่จำเป็น”

โดยในส่วนของเอ็นพีแอลของธนาคารพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมราว 1.8-2.0 หมื่นล้านบาท เป็น 4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 40% เพราะมีตัวเลขบางส่วนที่ซุกอยู่ยังไม่ได้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงเบื้องหลังการลาออกของนายโสฬสว่าเป็นใบสั่งจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะจากฟากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีส่วนได้เสียในการกำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ร่วมกับกระทรวงการคลัง แม้ช่วงหลังกระทรวงการคลังมีอำนาจมากกว่า มีการแต่งตั้งข้าราชการของคลังไปเป็นประธานบอร์ดและคัดเลือกเอ็มดีเอง แต่พบว่าประธานเอสเอ็มอีแบงก์คนล่าสุด คือ นายนริศ มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองใช้นายนริศเป็นเครื่องมือในการให้กระทรวงอุตฯ กลับเข้าไปมีอำนาจอีกครั้ง เห็นได้จากการที่ประธานสอบนายโสฬส คือนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พร้อมแต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิระ เด็กสาย ปตท.ที่ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีตัวจริงในกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเอ็มดีภายใต้ชื่อ หัวหน้าทีมฟื้นฟูแก้ไขปัญหาหนี้ของธนาคารฯ

ประเด็นต่อมาซึ่งมีความสำคัญและมีกระแสข่าวเงินใต้โต๊ะก็คือ คดี FRCD วงเงิน 300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท (Floating Rate Certificate of Deposit หรือ FRCD) ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์บัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่อยู่ในชั้นของอนุคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้เรียกนายโสฬสซึ่งให้การยืนอยู่ข้างผลประโยชน์เอสเอ็มอีแบงก์ ทำให้แบงก์เอสเอ็มอีมีโอกาสจะชนะธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขณะนี้อนุ ป.ป.ช.กำลังส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่

นอกจากนี้ ฝ่ายการเมืองซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจึงร่วมมือกันสั่งการผ่านบอร์ดที่มีนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ นั่งเป็นประธาน สูตรสำเร็จก็คือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพร้อมข้อกล่าวหาดังกล่าว ต้องจับตาดูว่าคดี FRCD ซึ่งเป็นผลประโยชน์ธนาคารจะพลิกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น