“นายแบงก์” ชี้ ตลาดเงินไทยยังไม่พร้อมเปิดรับ “เออีซี” เพราะมีหลายจุดอ่อน ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่ตื่นตัว โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ในการติดต่อต่อสื่อสาร พร้อมยกศักยภาพด้านภาษา “ไทย” ยังแพ้ “ลาว” แถมความล้าหลังด้าน กม. ที่ไม่มีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพร้อมของตลาดการเงินไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 โดยยอมรับว่า ภาคเอกชนที่เป็นสถาบันการเงินส่วนใหญ่ ยังไม่มีประเทศใดที่มีความพร้อม ยกเว้นสิงคโปร์
สำหรับประเทศไทย นายบันลือศักดิ์ ยอมรับว่า ยังมีจุดอ่อนหลายด้าน โดยเฉพาะการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาคเอกชนยังขาดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องนี้ เอกชนยังไม่มีความพร้อม และไม่ตื่นตัวเกี่ยวกับการรวมตัวเป็นเออีซี โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ในการติดต่อต่อสื่อสารที่ประเทศไทยยังแพ้ประเทศลาว และความล้าหลังด้านกฎหมายของไทย ที่ไม่มีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ในช่วง 4-5 ปีแรกในการเปิดเออีซี อาจจะมีความยุ่งยาก และเชื่อว่า จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดโดยทันที มีเพียงการค้าระหว่างประเทศเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเออีซีก็ต้องเป็นไปตามแผน และเปิดเต็มรูปแบบในปี 2563 ซึ่งยังต้องแก้ปัญหาตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
ด้านนายจอห์น ปัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันวิจัยอาเซียน ซีไอเอ็มบี กล่าวในการเสวนาเรื่อง “Rethinking ASEAN in the new Global Economy” โดยมองว่า จีน อินเดีย และอาเซียน เป็น 3 คลัสเตอร์ที่มีความสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลก หลังจากที่สหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และหนี้สาธารณะ ทำให้บทบาทการเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจโลกหมดลง
โดยอาเซียน 10 ประเทศ และอาเซียน+ 3 และอาเซียน+ 6 ต้องลดข้อจำกัดในแต่ละประเทศ และต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว มาเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยอาเซียนต้องมีการปรับตัว ต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และภายในภูมิภาคมากขึ้น แทนการส่งออกไปยังตะวันตกที่กำลังเกิดวิกฤต เพราะตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีจำนวนประชากรกว่า 500 ล้านคน
ดังนั้น อาเซียนต้องสร้างตลาดของอาเซียนเอง ต้องมีการพัฒนาแนวคิดสร้างจุดขายในผลิตภัณฑ์ และสร้างเครือข่ายผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโซเซียล มีเดีย
“ถือว่าโชคดีที่อาเซียนยังไม่ได้รวมตัวกันเหมือนกับสหภาพยุโรป หรืออียู ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อาเซียนได้ศึกษารูปแบบการรวมตัวของอียู และอเมริกาว่าไม่เหมาะสมกับอาเซียน และไม่ได้ผล ซึ่งรูปแบบการรวมตัวกันเป็นเออีซี ควรเป็นแบบบริษัทอาเซียน (ASIAN COMPANY) สร้างเอกลักษณ์ของอาเซียน สร้างทักษะ ความสามารถ ความรู้ โดยให้เอกชนเป็นแกนนำ ขณะที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน”
นอกจากนี้ การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นการรวมตัวของประชากร เศรษฐกิจ และตลาดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เราต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งให้เอกชน ต้องมีความคิดของอาเซียนเอง พัฒนาตลาดในภูมิภาค และให้ตลาดการเงินรองรับตลาดของอุตสาหกรรมได้ โดยเชื่อว่า การเกิดเออีซีแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เพราะเป็นการช่วยเพิ่มจีดีพีให้แก่ภูมิภาค แต่ต้องไม่ใช่ความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากปัญหาการเมือง