คลังเผยเดือน มิ.ย.55 จัดเก็บรายได้ภาครัฐ 1.33 แสนล. สูงกว่าประมาณการ 5.2% เนื่อจาก ศก.ไทย เติบโตเกินเป้าหมาย หลังอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ภาวะปกติ มั่นใจนโยบาย รบ. นำประเทศฝ่าวิกฤตยูโรโซนได้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมิถุนายน 2555 จัดเก็บรายได้ 133,455 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,604 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554-มิถุนายน 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 10,255 ล้านบาท
เดือนมิถุนายน 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 133,455 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,604 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.2) สาเหตุสำคัญมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากเหตุการณ์อุทกภัย และผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 3,226 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.0 นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,807 และ 2,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 และ 13.1 ตามลำดับ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 1,913 ล้านบาท เนื่องจากการไฟฟ้านครหลวงได้นำส่งรายได้จำนวน 1,052 ล้านบาท (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งเมื่อเดือนเมษายน 2555) ส่วนภาษีน้ำมันยังคงจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,857 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.3 ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554-มิถุนายน 2555) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,431,365 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10,255 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.2) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 12,543 11,048 และ 9,132 ล้านบาท ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,138,238 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,341 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.2) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 12,543 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าซึ่งสูงกว่าประมาณการ และช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,462 และ 41,369 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 และ 21.5 ตามลำดับ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,132 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 17,888 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 เป็นผลจากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2554 ต่ำกว่าประมาณการ
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 274,852 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 18,203 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.8) สาเหตุสำคัญมาจากการขยายเวลาการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 20,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.4 นอกจากนี้ ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,541 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 เป็นผลจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงต้นปีงบประมาณ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ภาษีรถยนต์ได้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาษียาสูบ เบียร์ และเครื่องดื่ม จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,409 2,123 และ 1,160 ล้านบาท ตามลำดับ
กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 89,326 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 11,076 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.0) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 11,048 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดรถยนต์ และส่วนประกอบรถยนต์ที่ขยายตัวในระดับสูง โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทโดยเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554-พฤษภาคม 2555) สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 11.9 และ 14.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 85,852 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,166 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.6) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.ปตท. และ บมจ.กสท โทรคมนาคมนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,190 และ 1,974 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.ทีโอที และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,780 และ 2,100 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ บมจ.การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุน ทำให้ไม่ได้จ่ายเงินปันผลจำนวน 1,740 ล้านบาท และกองทุนวายุภักษ์ งดจ่ายเงินปันผลจำนวน 900 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการการลงทุนกองทุนรวมวายุภักษ์มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 3 (กำหนดให้จ่ายเงินปันผลให้กระทรวงการคลังเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลในอัตรามากกว่าร้อยละ 3) ส่งผลให้กระทรวงการคลังไม่ได้รับเงินปันผลในส่วนนี้
หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 84,577 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2,374 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.3) เนื่องจากกรมศุลกากรได้ส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเหลือจ่ายจำนวน 4,655 ล้านบาท และกรมสรรพสามิตได้นำส่งเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นคืนเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยังไม่ได้นำส่งค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคม (จากที่ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนมกราคม 2555) จำนวน 2,000 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจรับรองงบการเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 184,779 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,865 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 ประกอบด้วย การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 146,742 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,758 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 38,037 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,107 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ให้แก่ อปท. ในปีงบประมาณ 2555 ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 5 งวด (ต.ค.54-ก.พ.55) จำนวน 34,817 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,177 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7
นายสมชัยสรุปว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน แต่จากการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นในอัตราที่สูง ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังอุทกภัย เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 สูงกว่าเป้าหมาย กระทรวงการคลังจึงมั่นใจว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2555 นี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท