“เอสซีจี” เปิดแผนลงทุน 5 ปี เพิ่มสัดส่วน ตปท.จากเดิม 20% เป็น 50% พร้อมขยายเม็ดเงิน 1.5-2.0 แสนล้าน ยอมรับปัญหาหนี้ “ยุโรป” กระทบ “ศก.โลก” ต้องลงทุนแบบระมัดระวัง แต่ถือเป็นโอกาสชอปของถูก โดยเน้นเข้าไปถือหุ้นแบบ M&A เพราะขยายธุรกิจได้เร็ว ส่วนตลาดอาเซียนยังเป็นเป้าหมายหลัก
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เปิดเผยแผนการลงทุนใน 5 ปี (2555-2559) วงเงินลงทุนประมาณ 1.5-2.0 แสนล้านบาท โดยเอสซีจีจะเน้นลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนต่างประเทศเป็น 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 20% ที่เหลือเป็นการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเน้นการลงทุนในอาเซียนเป็นหลัก
“การลงทุนจะเน้นในอาเซียนเป็นหลัก เพราะมีทิศทางการขยายตัวที่ดีหลังจากรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) เป็นตลาดเดียวในปี 2558 ซึ่งมีประชากรกว่า 600 ล้านคน การขยายการลงทุนจะเน้นเรื่องการทำ M&A ควบรวมกิจการในรูปแบบการซื้อหุ้นเป็นหลักมากกว่ารูปแบบกรีนฟิลด์ หรือลงทุนเองทั้งหมด จะทำให้การขยายกิจการเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
นายกานต์เปิดเผยในระหว่างเข้าพบคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และให้ความเห็นว่า ปัญหาหนี้ยุโรปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจะต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นโอกาสเพราะการเข้าซื้อหุ้นเพื่อควบรวมกิจการอาจจะได้ราคาถูกลง โดยการขยายการลงทุนจะพิจารณาทั้ง 3 ธุรกิจหลัก คือ ปิโตรเคมี, ปูนซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง และกระดาษ ซึ่งในขณะนี้มีการเจรจาหลายกิจการแต่ไม่ขอเปิดเผย ซึ่งแต่ละกิจการที่จะลงทุนอยู่บนเป้าหมายจะมีผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 15%
สำหรับการลงทุนในอาเซียน ปัจจุบันเอสซีจีมีการค้าขาย-ลงทุนทุกประเทศ มีสินทรัพย์ในอาเซียนยกเว้นไทย 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 54,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% จากสินทรัพย์ของเอสซีจีทั้งหมด 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 360,000 ล้านบาท มีพนักงานในอาเซียนประมาณ 10,000 คน นอกเหนือจากในไทยที่มีประมาณ 28,000 คน โดยการลงทุนสูงสุดนอกไทยในอาเซียน วงเงินสูงสุดอยู่ในอินโดนีเซีย ประมาณ 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับรองลงมา คือ เวียดนาม ประมาณ 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการลงทุนในพม่าซึ่งกำลังเปิดประเทศนั้น นายกานต์กล่าวว่า กำลังพิจารณาแผนการลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์ กำลังผลิต 1.8-1.9 ล้านตันต่อปี เพื่อตอบสนองการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นสูงมากในพม่า โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งออกปูนซีเมนต์ไปพม่าจากโรงงานทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในอัตราเติบโตสูงขึ้นตลอด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 3 ล้านตัน โดยในปีที่ 2554 มียอดขายสูงถึง 1.7 ล้านตัน นอกจากนี้ ปูนใหญ่ยังพร้อมพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในพม่า หลังจากพม่ามีการประกาศปฏิรูปทุกด้านสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นจนต่างชาติทยอยยกเลิกการคว่ำบาตร
“เรามีโอกาสมากในอาเซียนซึ่งจะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต เราสร้างแบรนด์จนเป็นที่ยอมรับในทุกประเทศ นอกจากทำการค้าการลงทุนแล้วเรายังเข้าไปช่วยด้านสังคมในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนเพื่อให้ก้าวไปด้วยกัน เช่น โครงการทุนการศึกษาแก่เด็กในอาเซียน “แชริ่งเดอะดรีม” จำนวน 5 พันทุน เป็นต้น”