สำนักงาน ก.ล.ต. แก้เกณฑ์ ให้ holding company ต้องถือหุ้นในบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลัก สัดส่วนมากกว่า 50% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อย และอาจได้รับการผ่อนปรนในกรณีที่มีอำนาจควบคุมกิจการตามมาตรฐานบัญชี หรือกรณีที่ติดข้อจำกัดของกฎหมาย หรือการร่วมทุนกับภาครัฐ หวังเพิ่มความสะดวกการดำเนินธุรกิจ
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบแก้ไขหลักเกณฑ์การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนของบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) โดยแก้ไขให้ holding company ต้องถือหุ้นในบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลัก (ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จัดตั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ) ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยนั้น และอาจได้รับการผ่อนปรนในกรณีที่มีอำนาจควบคุมกิจการตามมาตรฐานบัญชี หรือกรณีที่ติดข้อจำกัดของกฎหมาย หรือการร่วมทุนกับภาครัฐ ขณะที่หลักเกณฑ์เดิมต้องถือไม่น้อยกว่า 75% ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และการร่วมทุนของ holding company โดยที่ยังคงมีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อยอยู่
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้ holding company มีเป็นลักษณะเป็นธุรกิจจัดการเงินลงทุน (investment company) ก.ล.ต. ได้กำหนดขนาดของกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักและธุรกิจอื่นที่ holding company ไปถือหุ้น เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ของ holding company ให้มีความชัดเจน กล่าวคือ 1) กลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลัก (ทั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วม) ต้องมีขนาดสินทรัพย์คิดเป็นไม่น้อยกว่า 75% ของสินทรัพย์ของ holding company โดยที่ขนาดสินทรัพย์ของบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักต้องมีสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อ holding company และ 2) ขนาดเงินลงทุนของ holding company ในกลุ่มบริษัทอื่น (ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก) ต้องน้อยกว่า 25% ของสินทรัพย์ของ holding company
“หลักเกณฑ์ holding company ในปัจจุบัน กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักไว้สูง เพราะต้องการให้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จ แต่ในทางปฏิบัติบริษัทหลายแห่งไม่อาจถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างประเทศให้หันมาลงทุนผ่าน holding company ของไทย ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากลงทุนในไทยเพียงแห่งเดียว แต่สามารถเป็นเจ้าของกิจการหลายแห่งในภูมิภาค ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตลาดทุนไทยมีความหลากหลาย ส่งผลให้ตลาดทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคนี้ได้ในอนาคต” นายวรพล กล่าว