xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” แนะเอกชนต้องมีแผนรุก “เออีซี” ย้ำไม่ใช้เงินสกุลเดียว คาดประกันฯ แข่งเดือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
“กิตติรัตน์” แนะเอกชนเตรียมตัว-เสริมแผนรุก “เออีซี” เพราะไม่เช่นนั้นจะแข่งขันลำบาก ยืนยัน “รัฐบาล-เอกชน” จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน พร้อมย้ำ อาเซียนจะไม่ใช้เงินสกุลเดียว โดยอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ธปท. จะเป็นผู้ดูแล ส่วนค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อน ขึ้นอยู่กับดุลการค้าเป็นสำคัญ คาดธุรกิจ “ประกัน” แข่งเดือด “สุทธิ” คาด “มาเลย์-สิงคโปร์” เตรียมเข้ากินส่วนแบ่งตลาดในไทย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา เรื่อง AEC โอกาสหรือวิกฤต....ประกันชีวิตไทย ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย โดยแนะว่า ผู้ประกอบการไทยอย่าเพียงแต่ตั้งรับการเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เท่านั้น แต่ต้องมีแผนเพื่อรุกตลาดควบคู่ไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะแข่งขันลำบาก

นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐ และเอกชนจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมบุคลากร ภาษา ระบบขนส่ง ลอจิสติกส์ ฯลฯ โดยไทยได้เปรียบเพราะตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า อาเซียนจะไม่ใช้เงินสกุลเดียว โดยอัตราแลกเปลี่ยนของไทยนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะแข็งหรืออ่อนขึ้นอยู่กับดุลการค้าเป็นสำคัญ

นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ในกลุ่มอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซียมีความก้าวหน้ามากที่สุดในเรื่องประกันชีวิต โดยสิงคโปร์มีขนาดของธุรกิจมากกว่าไทย 3 เท่า ขณะที่มาเลเซียมากกว่าไทย 1 เท่า และการลงทุนด้านประกันชีวิตใน 2 ประเทศดังกล่าวอิ่มตัวแล้ว คาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน เพราะโอกาสของการเติบโตในประเทศไทยมีสูง เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยที่ซื้อประกันชีวิต มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

“ขณะนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการกำหนดที่ชัดเจนว่า ในกิจการประเภทใดบ้างในประกันชีวิตที่สามารถเปิดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งถ้ามีแนวทางที่ชัดเจนภาคเอกชนจะสามารถประเมินได้ว่า ควรจะปรับทิศทางอย่างไร และควรจะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร”

น.ส.เกตสุดา สุประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการจัดทำข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้ แต่ภาคเอกชนมีการเตรียมตัวล่วงหน้ากันมานานแล้ว

นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล ประธานกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมองเลยกรอบของอาเซียนไปแล้ว เพราะความร่วมมือได้ขยายไปสู่ Non Asean แล้ว ในข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ และยังมีกรอบความร่วมมือการเปิดเสรีภายใต้กรอบขององค์การค้าโลก

นอกจากนี้ การค้าได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะในปัจจุบัน มีการค้าที่ผ่านทาง e-commerce จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อไป ภาษีระหว่างประเทศจะเหลือร้อยละ 0 ดังนั้น จะต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยประเทศไทยจะต้องปรับตัวพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าของสินค้ามากขึ้น แต่ขณะนี้ น่ากังวลมากเพราะไม่มีใครที่จะบอกว่าทิศทางของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ราคาประกันถูกลง ขณะเดียวกัน มาตรฐานก็ดีขึ้น เพราะมีการแข่งขันกันเพื่อให้บริการที่ดีขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องรู้ว่ามีจุดแข็งอะไร มีศักยภาพอย่างไร แล้วให้มุ่งไปสู่จุดนั้น รวมทั้งต้องพิจารณาว่าจะแข่งขันอย่างไร การออกไปต่างประเทศ ต้องหาคู่ค้า หรือร่วมทุน ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่ตามกระแส เพราะการตามกระแสจะทำให้ได้รับของที่แพง

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังเร่งจัดทำ Road Map ของ AEC ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ธุรกิจประกันสามารถเปิดเสรีทันปี 2015 หรือ 2558 เหมือนกับภาคการเงิน และภาคธุรกิจอื่นๆ เพราะการปรับตัวต้องเริ่มตอนนี้ ไม่สมควรที่จะรอให้ถึงปี ค.ศ. 2020 เพราะอันตรายเกินไป ระยะแรกการเปิดเสรีจะเริ่มเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการเปิดต่างตอบแทนเป็นลักษณะคู่ค้ากันไปก่อน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ ยังต้องคุยกันอีก เพราะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องทั้งการกำกับดูแลใบอนุญาต การขึ้นทะเบียน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเสนอขาย ซึ่งจากนี้ไปต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ AEC โดยต้องมีมุมมองในเชิงรุกไม่ใช่รองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น