xs
xsm
sm
md
lg

คลังออกตั๋วพีเอ็น เมินกู้เงินระยะสั้นต้นทุนพุ่ง จี้ ธปท.ทบทวนนโยบายดูดซับสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สบน.เมินกู้เงินจากตลาดเงินระยะสั้น หลังต้นทุนพุ่งสูงลิ่วกว่าออกบอนด์ยาว 10 ปี พร้อมปรับแผนออกตั๋วพีเอ็นให้ ธ.ก.ส.ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวแทนการกู้แบงก์เหมือนที่ผ่านมา จี้ ธปท.ทบทวนนโยบายดูดซับสภาพคล่องหลังดูดเงินในระบบเข้าไปเก็บไว้สูงเกิน ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชน

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในตลาดกู้เงินระยะสั้นที่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก แม้จะเป็นการกู้เงินโดยกระทรวงการคลังพบว่า ล่าสุด ดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นไปอยู่ในระดับ 4% ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 10 ปี ประกอบกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่าง ธนาคารออมสิน หรือธนาคารพาณิชย์อย่างกรุงไทยเองระบุว่า มี่สภาพคล่องส่วนเกินเหลือให้รัฐบาลกู้ ทำให้ สบน.ตัดสินใจเลิกกู้จากตลาดเงิน และกู้แบบเทอมโลนจากสถาบันการเงิน มาใช้เครื่องมือการกู้เงินของตัวเองอย่างตั๋วพีเอ็นที่เป็นการกู้เงินระยะสั้นเช่นกัน

“ในเมื่อ สบน.กู้เงินในตลาดเงินระยะสั้นได้ดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย และดอกเบี้ยไบบอร์ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพึ่งพาการระดมเงินผ่านช่องทางดังกล่าว ขณะนี้ จึงปรับเปลี่ยนแผนการกู้เงินใหม่ทั้งหมด โดยหันมากู้ยืมเงินระยะสั้นโดยการการออกตั๋วเงินคลังระยะสั้น 3-6 เดือนแทน หมุนเวียนไปเรื่อยๆ หรืออาจออกอายุ 1 ปี-3 ปีก็ได้ เนื่องจากสามารถควบคุมดอกเบี้ยในตลาดดังกล่าวได้ และต้นทุนต่ำกว่ากู้จากตลาดเงินถึง 0.6-0.7%” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการออกพันธบัตรระดมเงินเองของกระทรวงการคลังอายุ 10 ปี จะมีต้นทุนอยู่ที่ 3.7% แต่หากเข้าไปกู้ในตลาดเงินตามดอกเบี้ยไบบอร์ 4 ปี กลับมีต้นทุนอยู่ที่ 4% ซึ่งไม่สะท้อนการดูแลดอกเบี้ยในระบบให้เป็นไปตามความเป็นจริง จึงมองว่า การพัฒนาให้เกิดไบบอร์คงไม่เกิดขึ้นจริง ต่อไปการกู้เงินของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจจึงจะหลีกเลี่ยงการกู้จากตลาดเงิน โดยล่าสุด การหาเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวนาปรังที่ผ่านมา วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ก็ปรับเลี่ยนจากกู้เทอมโลนจากสถาบันการเงิน มาเป็นการออกตั๋วพีเอ็นแทน มีต้นทุนที่ 3.35% ต่ำกว่า 4% ที่กู้จากตลาดเงิน โดยสัปดาห์นี้ก็จะระดมเงินอีก 3 หมื่นล้านบาทให้ ธ.ก.ส. และทยอยกู้ให้ตามความต้องการใช้เงิน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สภาพคล่องในระบบการเงินที่เคยมีการพูดถึงสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก และมีเพียงพอจะใช้เงินกู้ในประเทศนั้น ขณะนี้หลายแบงก์ระบุว่า ไม่มีสภาพคล่องเหลือพอ จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งเข้าไปดูแลตลาด และดูเรื่องสภาพคล่องด้วยว่ามีการดูดซับมากไปหรือไม่ เพราะล่าสุดพบว่า มีสภาพคล่องส่วนเกินที่ธปท.ดูดกลบเข้าไปถึง 3.9 ล้านล้านบาท จึงอาจทำให้ภาคเอกชนมีปัญหาในการกู้เงิน หรือระดมทุนในช่วงนี้ที่อาจต้องมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีนั้นพบว่า หลายแบงก์ยังไม่ปล่อยกู้ให้จริงเพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น