รักษาการ “ดีดี” การบินไทย แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ชี้แจงกรณีบอดร์ดสั่งปลด “ปิยสวัสดิ์” เพราะขัดแย้งจัดซื้อเครื่องบิน New Generation จำนวน 12 ลำ ยันผลประกอบการเดือน ต.ค.52 มีผลกำไร 7.3 พันล้าน ก่อนที่ “ปิยสัวสดิ์” เข้ามาดำรงตำแหน่ง ดังนั้น ผลดำเนินงานที่มีกำไร จึงได้ไม่ได้เป็นผลงานของผู้หนึ่งผู้ใด ลั่นเดินหน้าหา “ดีดี” คนใหม่
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีคณะกรรมการ (บอร์ด) ยกเลิกสัญญาจ้างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีความคิดเห็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินไม่ตรงกับคณะกรรมการบริษัท โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (ดีดี) ได้เสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย อนุมัติการซื้อเครื่องบิน New Generation จำนวน 12 ลำ มีระยะเวลากำหนดรับมอบปี 2561-2563
แต่ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) เห็นว่าช่วงที่มีการเสนอขอซื้อเครื่องบินของนายปิยสวัสดิ์ เป็นช่วงที่บริษัทประสบภาวะขาดทุนถึง 10,197 ล้านบาท และคาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการเดิมในปี 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2556 ซึ่งหากบริษัททำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะทำให้ต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มในปี 2554 และ 2555 ประมาณ 11,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังรวมถึงขัดกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ แต่นายปิยสวัสดิ์ กล่าวชี้แจงต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยยืนยันว่า หากไม่จัดซื้อเครื่องบินจำนวน 12 ลำดังกล่าว จะทำให้ไม่สามารถจัดซื้อเครื่องบิน B787-9 จำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ New Generation ที่ได้เซ็นสัญญากับบริษัทโบอิ้งซึ่งจะทำให้หา Slot ใหม่ไม่ได้ ซึ่งจะเกิดผลเสียแก่บริษัทเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ (บอร์ด) ยืนยันว่า การอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินเป็นเรื่องสำคัญในธุรกิจ และต่ออนาคตของบริษัท และจะต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษ ขณะที่ ดีดีการบินไทยซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมีความเชื่อในเรื่องการใช้ดุลพินิจ และยืนยันความเห็นของตนเองว่าดีที่สุดเท่านั้น พร้อมกับขอให้บันทึกความเห็นในลักษณะที่เป็นการติติงในทางลบต่อความเห็นของคณะกรรมการบริษัทไว้ในรายงานการประชุม
นอกจากนั้น ผลประกอบการของการบินไทยในเดือนตุลาคม 2552 ก่อนที่นายปิยสวัสดิ์ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีกำไร 7,344 ล้านบาท ดังนั้น จะเป็นได้ว่าการที่บริษัทสร้างผลกำไรมาได้ไม่ได้เป็นผลงานของผู้หนึ่งผู้ใด แต่ยืนยันว่าจะกำกับดูแลและผลักดันการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดให้บริการสายการบิน ไทยสมายล์ และจะมีการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยให้มาทำหน้าที่ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของคณะกรรมการมีจำนวน 5 หน้าพร้อมความเห็นของ สศช. และสำนักงบประมาณ รวมถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 วาระที่ 8 จำนวน 14 หน้า