xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” เซ็ง “เวิลด์แบงก์” ไม่เข้าใจประชานิยม ทำแล้ว ปชช.มีความสุข-ปัดกู้เก่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
"กิตติรัตน์" ห่วงเวิลด์แบงก์ไม่เข้าใจประชานิยม เพราะทำแล้วประชาชนมีความสุข ประชาชนสามารถมีปัจจัยต่างๆ โดยที่ต้องไม่ใช้เงินที่สูงเกินไป และการดำเนินนโยบายหลายอย่างรัฐบาลก็ไม่ใช่เงินไปแจกเพียงอย่างเดียว แนะอัพเดทข้อมูลภาระหนี้ พร้อมแจงข้อกังขา "กู้เก่ง" เพราะเอาไปลงทุนโครงการ ไม่ใช่ไม่ได้ทำอะไรเลย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) แสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก จึงต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและลดนโยบายประชานิยม โดยยืนว่า การดำเนินนโยบายประชานิยม แท้จริงแล้วเป็นเพียงการกระจายอำนาจ เทียบได้กับการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (เอสเอ็มแอล) ที่รัฐบาลได้ให้หมู่บ้านและชุมชนได้แก้ปัญหาความจำเป็นของหมู่บ้าน เพื่อนำเงินที่รัฐบาลจัดสรรไว้ให้ไปใช้ประโยชน์ ขณะที่เศรษฐกิจของไทยปัจจุบันก็เข้มแข็งแล้ว จึงไม่ได้กังวลอะไร

“เห็นใจหน่วยงานนานาชาติ ที่ไปทั่วโลกอาจจะดูแบบเผินๆ และก็ดูแบบไม่เข้าใจในภาคปฏิบัติ รวมทั้งไม่เข้าใจต่างประเทศดีเท่าไหร่ ซึ่งคำว่าประชานิยมถือเป็นคำที่ดี เพราะทำแล้วประชาชนมีความสุข โดยโครงการต่างๆ เช่น รถคันแรก บ้านหลักแรก ก็เป็นโครงการที่รัฐขอเก็บภาษีน้อยลง และจะทำให้ประชาชนสามารถมีปัจจัยต่างๆ โดยที่ต้องไม่ใช้เงินที่สูงเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ยังนำไปสู่การเชื่อมโยงในเศรษฐกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น โครงการบ้านหลังแรกก็ช่วยเรื่องตลาดวัสดุก่อสร้างให้ขับเคลื่อนไปด้วย และการดำเนินนโยบายหลายอย่างรัฐบาลก็ไม่ใช่เงินไปแจกเพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลเมื่อรวมกันแล้วก็มีวงเงินถึง 1.1 ล้านล้านบาท แยกเป็น ปี 2555 ขาดดุล 400,000 ล้านบาท และปี 2556 ขาดดุล 300,000 ล้านบาท รวมกับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ อีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้หลายคนมองว่า รัฐบาลชุดนี้กู้เก่ง แต่ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้กู้เงินมาเพื่อใช้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ไม่ใช่การกู้มาแล้วไม่ได้ใช้อะไรเลย ขณะเดียวกันงบขาดดุลในปี 2556 ที่ผ่านสภาไปนั้น ก็ได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. เป็นหน่วยงานแรก และก็มีความเห็นตรงกันว่ามีความเหมาะสม

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ทางเวิลด์แบงก์ ยังไม่รู้ด้วยว่า รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้ที่ลดลงแล้ว โดยเฉพาะการออก พ.ร.ก.แก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดการหนี้ดังกล่าวไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินอีกต่อไป ทั้งเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาต้องรัฐต้องตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 68,000 ล้านบาท และในอนาคตจะไม่มีต้องเข้าไปรับภาระแล้ว แต่จะมีการจ่ายดอกเบี้ยกับหนี้ก้อนใหม่ ซึ่งดอกเบี้ยจะไม่สูงเกินไปและอาจไม่ถึง 40,000 ล้านบาทด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น