xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟ ชี้ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทย เตือนใช้มาตรการกระตุ้น-บทบาทแบงก์รัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แบงก์ชาติ” เผย “ไอเอ็มเอฟ” มองแนวโน้ม ศก.ไทย ดีขึ้นในระยะสั้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของ ศก.โลก และความคืบหน้าของมาตรการป้องกัน “อุทกภัย” พร้อมเตือนไทยระวังการใช้มาตรการกระตุ้น ศก. และบทบาทธนาคารของรัฐ

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้สรุปทบทวนภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2555 โดยมีความเห็นว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐของไทย ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 และ 7.5 ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีในระยะสั้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าของมาตรการป้องกันอุทกภัย ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความเหมาะสมในภาวะปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรทยอยปรับลดมาตรการกระตุ้นต่างๆ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและเข้าสู่ภาวะปกติ และมุ่งสู่เป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง ความท้าทายสำคัญในระยะข้างหน้า คือการเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังอุทกภัย ในขณะที่ต้องดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทั่วถึง (inclusive growth)

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องปรับลดเงินอุดหนุนตามโครงการต่างๆ และยกเลิกรายการลดหย่อนภาษี เพื่อลดภาระ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังไว้ (fiscal space) การดำเนินนโยบายกระจายรายได้ควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมภาระทางการคลัง และเพิ่มประสิทธิภาพ นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำควรดำเนินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ กระแสเงินทุนไหลเข้าจะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องในระยะสั้น อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทน่าจะปรับตัวได้ยืดหยุ่นขึ้นทั้งสองทิศทาง ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นด้วยกับนโยบายของทางการไทยที่จะผ่อนคลายเงินทุนไหลออกมากขึ้น ในขณะที่ยังคงมีมาตรการรองรับหากเกิดเงินทุนไหลออกฉับพลัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารชื่นชมความคืบหน้าในการพัฒนาตลาดการเงินของประเทศ และเห็นควรเร่งดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยปรับบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มุ่งดำเนินงานตามพันธกิจหลัก ปรับปรุงมาตรฐานการบริหารจัดการความเสี่ยง และมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น