xs
xsm
sm
md
lg

คลัง ชี้ ศก.ไทย ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ลุ้นไตรมาส 4 ปีนี้โตได้ถึง 7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้อำนวยการ สศค. แจงทิศทาง ศก.ไทย ลั่นผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เมื่อเดือน พ.ย.54 และพบสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อ คาดไตรมาส 4 ปีนี้ มีโอกาสโตได้ถึง 7% ทั้งจากการบริโภค การลงทุนภาครัฐ-เอกชน แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ศก.โลก ภัยธรรมชาติ และการเมือง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาพรวมเศรฐกิจไทยในขณะนี้ โดยยอมรับว่า ภาวะทางเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ พร้อมระบุว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทั้งจากการบริโภคและการลงทุน ดังนั้นยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 5%

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2554 มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังผ่านพ้นปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเดือนธันวาคม 2554 ถือว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดรุนแรงจากเดือนพฤศจิกายน 2554 และเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว

ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่า ไตรมาส 4/2554 เศรษฐกิจจะยังหดตัวถึง 5% และทำให้ทั้งปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 1.1% ขณะที่ทั้งปี 2555 ยังคงคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 5% โดยไตรมาส 1/2555 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 2% และเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตที่อัตราสูงสุด 7% ในไตรมาส 4/2555 โดยแรงผลักดันเศรษฐกิจมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เช่น การปล่อยสินเชื่อ การลงทุนของภาครัฐ

โดยในปี 2555 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าสถานการณ์ยังคงเลวร้าย เบื้องต้นคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจยุโรปจะติดลบ 0.8% แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะกรีซก็จะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเมืองต่างประเทศ ที่ปีนี้จะมีการเลือกผู้นำใหม่หลายประเทศ รวมทั้งการเกิดความขัดแย้งของหลายประเทศ เช่น อิหร่าน และสหรัฐฯ ส่วนปัญหาภัยธรรมชาติในปีนี้มีการคาดกันว่าในภูมิภาคเอเชียจะมีสถานการณ์ฝนตกมาก จากผลของลานิญญ่า ขณะที่ปัญหาการเมืองในประเทศนั้น มองว่ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองนิ่งจะเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น