บอร์ด กนง.มีมติคง ดบ.นโยบาย เอาไว้ที่ระดับ 3.00% ตามคาด เพื่อพยุงภาวะ ศก. และดูแลเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ ชี้ ความเสี่ยง ศก.โลก เริ่มลดลง ขณะที่ ศก.ไทย แรงส่งดีขึ้น มั่นใจ อัตรา ดบ.อยู่ในระดับเหมาะสม พร้อมปรับเพิ่มเป้า ศก.ปี 55 ขยายตัวได้ 5.7%
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันนี้ ที่ประชุม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับดังกล่าวยังสนับสนุนให้เศรษฐกิจโต และดูแลเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมยืดหยุ่นนโยบายการเงินตามสถานการณ์ เนื่องจากเงินเฟ้อยังเสี่ยงเร่งตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 พร้อมปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2555 เป็นโต 5.7% จากเดิม 4.9% และคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 2555 เป็น 3.4% เงินเฟ้อพื้นฐาน 2.4%
ที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้ เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง โดยเศรษฐกิจยุโรปคาดว่า จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น แต่จะยังขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพไปอีกระยะหนึ่ง จากข้อจำกัดด้านการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังลดลงต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจเอเชียส่วนใหญ่ชะลอลงตามภาวะการส่งออกแต่ไม่มากนัก
เหตุการณ์อุทกภัยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน และกระบวนการฟื้นฟูคาดว่าจะล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยคณะกรรมการ ประเมินว่า การผลิตจะกลับมาเป็นปกติในไตรมาสที่ 3 ของปี ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เริ่มกระเตื้องขึ้น และภาวะการเงินที่เอื้ออำนวย จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรองรับการชะลอตัวของการส่งออกตามอุปสงค์โลก
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับลดลง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ล่าช้ากว่าที่คาด ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่จะเพิ่มขึ้น ในช่วงการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์อุทกภัย ส่วนหนึ่งจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่จะทยอยเห็นผล จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังคงมีอยู่บ้าง
คณะกรรมการ ประเมินว่า ในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีไม่มาก ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 3.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที และประเมินว่าการผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ระดับปกติได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเริ่มกระเตื้องแต่ยังเปราะบาง