xs
xsm
sm
md
lg

“อาทิตย์ อุไรรัตน์” ขอซื้อหุ้น ม.รังสิตที่เหลืออีก 33% จากว่าที่เจ้าของใหม่ “กลุ่มปราสาททองโอสถ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “อาทิตย์ อุไรรัตน์” ส่งสารถึงกลุ่มผู้ถือหุ้น รพ.กรุงเทพ ขอซื้อหุ้น บริษัท ประสิทธิรัตน์ ผู้บริหาร ม.รังสิต ทั้งหมด 1.5 ล้านหุ้น หรือ 33% อันเป็นผลพลอยได้จากดีลควบรวมกิจการกับ รพ.พญาไทคืน ระบุเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนาสถาบัน หลังจากที่ผ่านมาทำได้อย่างลำบาก ยอมรับงง! มูลค่าหุ้นที่ฝ่ายประเมินคิด เพราะสูงถึง 1,900 บาท/หุ้น ชี้กำไรจากธุรกิจไม่สามารถดึงทั้งหมด 100% มาจ่ายผู้ถือหุ้นได้ เหตุมากกว่าครึ่งต้องนำไปเป็นทุนให้กองทุนต่างๆ ตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ใช่เจ้าของสินทรัพย์ทั้งหมดในมหาวิทยาลัย หวังว่าที่เจ้าของ รพ.พญาไทรายใหม่เห็นใจ ยอมปล่อยเพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทประสิทธิพัฒนา เจ้าของโรงพยาบาลพญาไท (PYT) เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ได้ยื่นจดหมายเจรจาขอซื้อหุ้นในบริษัทประสิทธิรัตน์ จำกัด ในสัดส่วน 33% หรือ 1.5 ล้านหุ้น คืนจากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) เจ้าของโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มปราสาททองโอสถ เนื่องจากอนาคตอันใกล้นี้สัดส่วนหุ้นของบริษัทดังกล่าวจะถือเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ BGH จะได้มาจากการควบรวมกิจการระหว่าง BGH กับบมจ.ประสิทธิพัฒนา เจ้าของโรงพยาบาลพญาไท (PYT) หรือภายหลังจากสิ้นสุดเวลาตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ PYT ในวันที่ 12 เมษายน

สาเหตุที่ต้องการซื้อหุ้นในสัดส่วน 33% คืนจาก BGH เพราะบริษัท ประสิทธิรัตน์ (กลุ่มอุไรรัตน์ถือหุ้นรวมกันอยู่ประมาณ 60%) เป็นผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการศึกษา ซึ่งนั่นคือ ม.รังสิตในปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายในเรื่องมติผู้ถือหุ้น ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถขยาย และพัฒนาเพื่อการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพราะติดผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 33% ดังกล่าวไม่ยินยอมต่อการเพิ่มทุนกิจการ ทำให้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต้องใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงินเพียงช่องทางเดียวเพื่อพัฒนาองค์กร

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังต้องรอการตัดสินใจจากผู้ถือหุ้นของ BGH อีกครั้ง เพราะดีลการควบรวมกิจการระหว่าง 2 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อีกทั้งด้านที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการควบรวมกิจการได้ประเมินสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยไว้ในสัดส่วนที่สูง จนมีการประมาณการไว้ถึง 1,200 บาทต่อหุ้น จากเดิมมีราคาประมาณ 100 บาท/หุ้น และล่าสุดได้มีการปรับเพิ่มประมาณการราคาหุ้นขึ้นเป็น 1,900 บาท/หุ้น

ขณะที่อธิการบดี ม.รังสิตต้องการขอซื้อหุ้นคืนในราคาเริ่มต้นประมาณ 814 บาท/หุ้น หรือใช้เงินประมาณ 407 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าการประเมินราคาหุ้นของที่ปรึกษาทางการเงินไม่ตรงกับความจริง เพราะกฎหมายของสถาบันการศึกษาระบุไว้ชัดเจนว่ากำไรสุทธิที่ได้รับจากค่าเล่าเรียนของนักศึกษาไม่สามารถนำเอารายได้ หรือกำไรจากการประกอบธุรกิจทั้งหมดมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ 100% อย่างมากที่สุดทำได้เพียง 30% โดยรายได้-กำไรที่เหลือจะต้องถูกนำไปแบ่งจ่ายให้กองทุนเพื่อการศึกษาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการพัฒนาการศึกษาทั้งในด้านเครื่องมือ และบุคลากร

ขณะเดียวกัน แม้บริษัทประสิทธิรัตน์จะเป็นผู้ครอบครองใบอนุญาตดำเนินธุรกิจมหาวิทยาลัยรังสิต แต่สินทรัพย์ของบริษัทไม่ใช่สินทรัพย์ทั้งหมดที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีอยู่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยรังสิตมีสภาพเป็นนิติบุคคลในตัวเอง บริษัทประสิทธิรัตน์เป็นเพียงผู้ให้ใช้ใบอนุญาตมาดำเนินการเปิดสถาบันการศึกษา และมีสินทรัพย์เพียงบางส่วนที่นำมาให้มหาวิทยาลัยใช้เท่านั้น แต่ขณะนี้สินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันได้ถูกตีมูลค่าในสัดส่วน 33% เพื่อไปรวมกับมูลค่าสินทรัพย์ รพ.พญาไททั้งหมด ทั้งที่ไม่ใช่สินทรัพย์ของบริษัท ประสิทธิรัตน์ทั้งหมด

“เราไม่แน่ใจว่าที่ปรึกษาทางการเงินเข้าใจ หรือรับทราบถึงกฎหมายสถาบันการศึกษาในเรื่องนี้หรือเปล่า ถึงได้ตีมูลค่าสินทรัพย์ของ ม.รังสิตไว้สูงมาก เพราะหากมองในแง่ธุรกิจแสวงหากำไรจากการลงทุน ต้องบอกเลยว่าการทำมหาวิทยาลัยนั้นมันไม่ใช่ มันแทบเป็นงานสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชน ทำเพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรให้ประเทศชาติ และทำด้วยใจรัก กำไรที่ได้รับมาจากค่าเล่าเรียนก็ไม่สามารถนำมาจ่ายให้ผู้ถือหุ้นได้ทั้งหมด ส่วนมากกว่าครึ่งต้องนำไปให้กองทุนต่างๆ เพื่อใช้เป็นทุนพัฒนา หรือวิจัย หรือเพื่อซื้อเครื่องมือทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายกำหนด และที่ผ่านมาก็มีการจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราประมาณ 1 บาท/หุ้น บางปีก็ไม่ได้จ่าย

ที่ผ่านมา เวลาจะพัฒนา หรือลงทุนอะไรเพิ่มเติมให้มหาวิทยาลัยเป็นไปได้อย่างลำบาก เพราะเวลาเราขออนุมัติเพิ่มทุนก็จะไม่ได้รับการอนุมัติทั้งที่ส่วนใหญ่เห็นชอบ เพราะเสียงไม่มากกว่า75% เรื่องนี้ผมจึงอยากเข้าไปเจรจากับผู้ถือหุ้นคนใหม่ในบริษัทประสิทธิพัฒนา นั่นคือกลุ่ม รพ.กรุงเทพ เพราะมองว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่เขาถนัด และผมจะขอซื้อหุ้นดังกล่าวในนามผมเอง โดยการขอวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาซื้อหุ้นในครั้งนี้” ดร.อาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ สัดส่วนหุ้นของบริษัทประสิทธิรัตน์จำนวน 33% ที่ รพ.พญาไทถืออยู่นั้น เกิดขึ้นจากแต่เดิมกลุ่มอุไรรัตน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งโครงสร้างการถือหุ้นในช่วงดังกล่าว รพ.พญาไท 1 และ รพ.พญาไท 2 ในฐานะบริษัทย่อยของ บมจ.ประสิทธิพัฒนา (PYT) มีการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทประสิทธิรัตน์ ผู้เป็นเจ้าของใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการศึกษา (ม.รังสิต) ในสัดส่วน 20% และ 13% ตามลำดับ รวม 33% หรือ 1.5 ล้านหุ้น

ต่อมา ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 PYT ในฐานะเจ้าของ รพ.พญาไท ต้องประสบปัญหาทางการเงินจากมูลค่าหนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท กลายเป็น 13,000 บาท จนทำให้บริษัทเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และต่อมาได้เกิดกรณีดีลประวัติศาสตร์ในวงการหุ้น คือ กลุ่มอุไรรัตน์เจ้าของเดิม PYT ไม่สามารถรักษาสถานะไว้ได้ หุ้นส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในบริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ของนายวิชัย ทองแตง ที่กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน (ก่อนที่จะควบรวมกิจการกับ รพ.กรุงเทพ) ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ใน PYT ได้รับสิทธิในการถือหุ้นบริษัทประสิทธิรัตน์ เจ้าของใบอนุญาต ม.รังสิตในสัดส่วน 33% ไปด้วย

โดยการเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นบริษัทประสิทธิรัตน์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ PYT ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใหม่ครั้งนั้น แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ จนมีผลให้การขยายธุรกิจของมหาวิทยาลัยดำเนินไปได้โดยไม่สะดวก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นประสิทธิรัตน์อีกครั้ง ทางคณะผู้บริหาร ม.รังสิตจึงมองว่าเป็นโอกาสที่เชื่อว่าจะสามารถตกลงกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ หรือเจ้าของ รพ.กรุงเทพได้

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรังสิตมีหนี้อยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และจะมีหนี้เกิดใหม่เพื่อใช้ในการพัฒนาอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีมูลหนี้เพิ่มขึ้นอีก 2,500 ล้านบาทหากได้ผู้ชนะการประกวดราคารับเหมาดำเนินการก่อสร้าง และบริหารหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบนเนื้อที่ 20 ไร่ ภายใต้สัญญา 30 ปี

โดย ม.รังสิตมีที่ดินทั้งหมด 290 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน 160 ไร่ และอีก 130 ไร่จากบริษัทในกลุ่มอุไรรัตน์ที่เพิ่งซื้อเพิ่มเข้ามาใหม่เพื่อเตรียมพัฒนาสถานศึกษา ส่วนภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 700 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับเงินประกันภัยเพียงครึ่งเดียวคือ 350 ล้านบาท ดังนั้น เงินส่วนที่เหลือเพื่อซ่อมแซมจะมาจากเงินกู้รอบใหม่ของมหาวิทยาลัยที่จะใช้ในการพัฒนามาดำเนินการ

“ราคาที่เราเสนอไปยังสามารถปรับเพิ่มได้ เพียงแต่เราอยากให้กลุ่มผู้ถือใหม่เข้าใจในโครงสร้างธุรกิจมหาวิทยาลัยว่าไม่ใช่อย่างที่มีการประเมินไว้ สิ่งที่ผมอยากทำคือการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพให้ประเทศ ผลกำไรที่ได้มาส่วนมาก หรือแทบทั้งหมดจึงถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนามาตลอด ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยอมรับ และเข้าใจในผลตอบแทนที่ได้รับเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจสวนทางกับความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินที่มองว่าสินทรัพย์อย่าง ม.รังสิตที่จะได้รับมานั้นมีมูลค่าที่สูง”
กำลังโหลดความคิดเห็น