ASTVผู้จัดการรายวัน - กสิกรฯ ประเมินค่าแรง 300 บาทกระทบต้นทุนเอสเอ็มอีไม่มาก เหตุรัฐมีมาตรการช่วยเหลือ-เตรียมพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่สินเชื่อไตรมาสแรกยังเติบโตได้ดี
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ของไทยว่า
ปัจจุบันต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 16.2% ของต้นทุนรวมเอสเอ็มอี หรือคิดเป็น 33% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอีมากนัก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นที่รับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงน่าจะมีการปรับตัวได้ ประกอบกับภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในบางส่วน อาทิ การปรับลดภาษีนิติบุคคล หรือการลดวงเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น
“ผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้นมีแน่นอน แต่คงไม่หนักขนาดทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไป เพราะเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องที่รับทราบกันมาพักหนึ่งแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับตัว เตรียมพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว และภาครัฐก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยลดต้นทุนในระดับหนึ่ง หรือในบางส่วนก็จะโยกไปสู่ผู้บริโภคตามกลไกตลาดต่อไป”
เตือนแข่งดุทำหนี้เสียเพิ่ม
สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วงไตรมาสแรกนั้นยังสามารถเติบโตได้ดี มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.5% จากสิ้นปี 2554 โดยเป็นสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 30-40% แต่เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางส่วนชำระคืนหนี้จึงทำให้อัตราการเติบโตสุทธิของสินเชื่อไม่สูงนัก แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่าสินเชื่อจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 11-12% เป็นส่วนของสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลาง 9% และขนาดเล็ก 15%
นายพัชรกล่าวอีกว่า การแข่งขันสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ยังรุนแรงทั้งทางด้านวงเงินที่ให้สูงขึ้นและด้านราคา ซึ่งก็มีปัจจัยที่ทำให้น่าเป็นห่วง เนื่องจากวงเงินที่แข่งขันให้สูงขึ้นในอัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก ทำให้ผู้ประกอบการใช้เงินลงทุนผิดประเภทหรือมีการขยายการลงทุนที่รวดเร็วเกินไป ก็จะให้เกิดปัญหาหนี้เสียในอนาคตได้