รายงานการเมือง
ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครรอคอยการส่งสัญญาณที่จะเป็นดัชนีชี้ทิศทางบ้านเมืองจากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกต่อไปแล้ว
เพราะ 6 เดือนภายใต้การบริหารงานของเธอได้พิสูจน์ตัวตน “ยิ่งลักษณ์” แล้วว่า ทำได้ดีที่สุดแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าออกงานอีเวนต์ จอกตาใส่กล้อง ยิ้มสวยโพสต์ท่า
ทำได้เท่านั้นจริงๆ
กล่าวได้ว่า เป็นความสามารถที่ด้อยกว่า พริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ด้วยซ้ำ เพราะพริตตี้ไม่ใช่แค่ยิ้มสวยแต่ต้องอธิบายสินค้าที่เธอดูแลได้ด้วย
ซึ่ง ยิ่งลักษณ์ ทำไม่ได้
คุณค่าความเป็น “นายกฯ นกแก้ว” ของ “ยิ่งลักษณ์” จึงทำได้แค่เฉิดฉายไปมาให้สื่อไร้จรรยาบรรณเชลียร์ เสื้อผ้าหน้าผมเท่านั้น
ส่วนเนื้อหาสาระที่ต้องขับเคลื่อนประเทศเป็นเรื่องของ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”ที่อยู่นอกประเทศจะเป็นผู้กำหนด
และมี “ผู้มีบารมีนอกทำเนียบ” เป็นคนเปิดเกม
ใครคือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกประเทศ คงไม่ต้องพูดถึงให้เปลืองน้ำลาย เพราะเขาคือคนที่แทบทุกคนก็รู้ว่าคือใคร
ส่วน “ผู้มีบารมีนอกทำเนียบ” ต้องขยายความตอกย้ำกันหน่อย
เพราะเป็นผู้เล่นนอกสนามที่กรรมการเป่าให้หยุดไม่ได้ แถมพร้อมที่จะเล่นนอกกติกาตลอดเวลาเสียด้วย
ก็เรื่องอะไรจะต้องไปแคร์ ในเมื่อไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะ ประธาน กยอ.ที่เดินออกมาจากหลังม่านครั้งแรก เล่นบทพระเอกขี่ม้าขาวฟื้นฟูประเทศ หลังนารีขี่ควายแดงลงปลักไปจนกู่ไม่กลับ
ความเป็นมาของวีรพงษ์ที่ผู้คนควรจะได้ย้อนรำลึกถึง ไม่ต้องไปไกลถึงขนาดว่า เคยมีบทบาทอย่างไรในยุครัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เอาแค่นับถอยหลังไป 20 ปีก็พอ
“โกร่ง กางเกงแดง” ร่วมแก๊งก๊วนเดียวกับ วิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ในยุคที่บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยปละละเลยให้เอกชนกู้เงินจากต่างประเทศโดยไม่มีการตรวจสอบ ผู้บริหารสถาบันการเงินขาดธรรมาภิบาลร่วมกันฉ้อฉลกับนักการเมือง จนเป็นที่มาของการล่มสลายและวิกฤตการเงินในปี 2540
“วิจิตร” ตั้ง “โกร่ง กางเกงแดง” เป็นที่ปรึกษาแบงก์บีบีซีในช่วงเวลาที่เริ่มเกิดปัญหาหนี้เน่าจนแบงก์ขาดสภาพคล่อง แต่สถานการณ์ดำดิ่งลงเหวหนักขึ้นจากการบริหารของสามเกลอร่วมทีมที่กำลังมีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจประเทศอยู่ในขณะนี้คือ
วิจิตร สุพินิจ โกร่ง กางเกงแดง และ นิพัทธ พุกกะณะสุต
การทุจริตอย่างมโหฬารของผู้บริหารแบงก์บีบีซี มีบรรดาพ่อมดการเงินรู้เห็นเป็นใจและมีนักการเมืองขณะนั้นหนุนหลัง
ส่วน “วิจิตร” เกลอโกร่ง กางเกงแดง ถูกเปิดโปงว่า ส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการซื้อหุ้นราคาพาร์จากบริษัทลูกของธนาคารเอกชนก่อนที่จะมีการขายทำกำไรในเวลาต่อมา และให้บังเอิญว่าบริษัทนี้ได้รับการอนุมัติเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ “วิจิตร” เป็นประธานรักษาการณ์ในการประชุมบอร์ดตลาดพอดิบพอดี
อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น?
เล่ากันว่าในสมัย “วิจิตร” เป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังมีกรณีที่ “วิจิตร” มีวงเงินเบิกเกินบัญชีกับบีบีซี โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ในขณะที่แบงก์บีบีซีกำลังถูกแบงก์ชาติตรวจสอบ
จากรายงานของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) สรุปไว้น่าสนใจดังนี้
“เมื่อพิจารณาการดำเนินงานช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การของ ธปท. โดยรวมทั้งโครงการแล้ว คงจะต้องกล่าวว่าปราศจากความโปร่งใส และความเด็ดขาดในการที่จะแก้ไขสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างจริงจังและรวดเร็วทันกับเวลา มาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่กิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอด”
มาตรการที่ถูกระบุว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมก็คือ การที่ “วิจิตร” สั่งให้บีบีซีเพิ่มทุน 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2538 และมีนาคม 2539 โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าซื้อหุ้นทั้งสองครั้ง เป็นมูลค่า 750 ล้านบาท และ 5,400 ล้านบาทตามลำดับ โดยไม่สั่งให้บีบีซีลดทุนก่อน
“นิพัทธ” เข้าไปมีบทบาทร่วมด้วยตรงนี้ ในฐานะประธานบอร์ดธนาคารออมสิน เขาให้ธนาคารออมสินเข้าไปร่วมซื้อหุ้นด้วย (ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เขาชดใช้เงินให้ธนาคารออมสิน 534 ล้านบาท คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา)
ในรายงาน ศปร.สรุปส่งท้ายว่า “การดำเนินมาตรการแบบไม่เด็ดขาดเอื้ออำนวยให้มีการทำหนี้เสียเพิ่มเติม และเป็นปัญหายืดเยื้อ มีการบริหารผิดพลาดเพิ่มเติม จนเกิดการเสียหาย แก่เงินของเอกชน เงินของธนาคารออมสิน และเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นอันมาก หากได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเด็ดขาดโดยประกาศลดทุนเพิ่มทุน และเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโดยเด็ดขาดเสียแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะสกัดความเสียหายให้ลดลงได้มาก”
จากการไร้ซึ่งธรรมาภิบาลที่นำไปสู่ความล่มสลายของบีบีซี ทำให้ “วิจิตร” ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในเดือนกรกฎาคม 2539
แต่คนสร้างหนี้เน่า ฉาวโฉ่กลุ่มนี้ถูกเรียกทั้งก๊วนให้เป็นส่วนหนึ่งในทีมเศรษฐกิจยุค ทักษิณ ชินวัตรเรืองอำนาจ จนมาถึงยุค สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็น รมว.คลัง ก็เรียกใช้บริการให้ “วิจิตร” ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน ก.ล.ต.
เนื่องจากถนัดทำงานเป็นทีม ในวันที่ 7 ก.ค. 2551 เขาแต่งตั้ง นิพัทธ พุกกะณะสุต เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ก่อนต้องเปิดหมวกอำลาจากตำแหน่งเพราะมีปัญหาเรื่องเข้าไปเอี่ยวฮุบหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
3 มิ.ย. 2554 “วิจิตร”ลาออกจากการเป็น ประธาน กลต. หลังถูกกดดันอย่างหนักจากการรวมตัวของพนักงาน กลต.แต่งชุดดำประท้วง เนื่องจาก “วิจิตร” เข้าไปพัวพันกับกลุ่มของนายบี เตชะอุบล และนายวีระ มานะคงตรีชีพ จะเข้าเทกโอเวอร์หุ้นของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซี่ส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ก.ล.ต.
พูดง่ายๆ ขาดธรรมาภิบาลที่ดีในการเป็นผู้บริหารองค์กรนั่นแหละ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ “วิจิตร-นิพัทธ” จะถูกซุกไว้หลังม่าน แล้วใช้ “วีรพงษ์” มาออกหน้าเดินเกม
เพราะแม้จะกลิ่นบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับมีชนักติดหลังเหมือนเพื่อนร่วมก๊วน
ร่วมกันคิดล้วงเงินคลังหลวง เบียดเบียนแบงก์ชาติ ตกแต่งบัญชี ซุกหนี้ ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินชาติแปรรัฐวิสาหกิจชั้นดีให้เป็นของเอกชน
มีแต่ก๊วนนี้เท่านั้น ที่คิดได้แบบนี้