xs
xsm
sm
md
lg

จากแบงก์ชาติถึง ก.ล.ต. วิจิตร สุพินิจ ไม่เคยเปลี่ยนนิสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในที่สุด นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ยอมจำนนต่อหลักฐาน และแรงกดดันของผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน ก.ล.ต. ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกเปิดโปงว่า อาศัยตำแหน่งหน้าที่ ทำตัวเป็นนายหน้า พาพ่อมดการเงิน ไปต่อรองขอตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัททีทีเอ

เสียดายอยู่หน่อยว่า การชิงลาออกของนายวิจิตร ทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นว่า กรรมการ ก.ล.ต. จะมีจุดยืน และท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร หาก นายวิจิตรไม่ลาออก จะมี กรรมการ ก.ล.ต. คนไหน กล้าตำหนิ หรือขอให้นายวิจิตร ลาออกไปไหม

เมื่อเรื่องแดงขึ้นมาว่า ประธาน ก.ล.ต. มีพฤติกรรมต่อรอง ข่มขู่ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็น รองประธาน ก.ล.ต. จึงเพิ่งคิดได้ว่า ควรจะแก้กฎหมาย ห้ามประธาน และ กรรมการ ก.ล.ต. เป็นกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ทั้งๆที่ มีเสียงท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมที่นายวิจิตร เป็นประธานกรรมการ บริษัท จี สตีล อยู่ด้วยมานานแล้ว แต่ถาม เลขาก.ล.ต. ถามกรรมการ ก.ล.ต. ทีไร ก็ตอบว่า ไม่ผิดกฎหมาย

ต้องปรบมือให้กับ ผู้บริหาร และพนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งนัดกันแต่งชุดดำมาไล่นายวิจิตร ที่มีความกล้าหาญ ลุกขึ้นมาปกป้อง สถาบันของตนเอง ไม่ให้เสื่อมเสีย ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ ที่เกิดจากการกระทำของนายวิจิตร เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในยุคนายวิจิต เป็นผู้ว่าการ เมื่อ 15 ปีก่อน ที่เกียรติภูมิของแบงก์ชาติ ซึ่งสั่งสมกันมานานหลายทศวรรษ ถูกทำลายลงอย่างยับเยิน ภายในช่วงเวลา 6 ปีที่นายวิจิตรอยู่ในอำนาจ

หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ในประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2540 กระทรวงการคลัง ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษา วิเคราะห์หาสาเหตุ ที่ทำให้ประเทศไทย เดินไปสู่วิกฤติการณ์ในครั้งนั้น

คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อว่า "คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ ระบบการเงินของประเทศ" หรือ "ศปร."  มีนายนุกุล ประจวบเหมาะ เป็นประธาน มีกรรมการอีก 6 คน รวมทั้ง นางสาว นภพร เรืองสกุล ซึ่งจะเป็นประธาน กรรมการ ก.ล.ต. คนใหม่ต่อจาก นายวิจิตร ที่จะครบวาระอยู่แล้วในกลางเดือนกรกฎาคมนี้

ศปร. เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับ การกำหนดนโยบายการเงิน การคลัง ผู้ที่หน้าที่ในการแก้ไขปัญหาในขณะนั้นมาให้ปากคำ จำนวนมาก หลังจากนั้น ได้เผยแพร่ผลการศึกษา ซึ่งมืชื่ว่า "รายงานผลการวิเคราะห์ และวินิจฉัยข้อเท็จจริง เกียวกับ สถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจ" แต่เรียกกันสั้นๆว่า "รายงานศปร. 1"

บทที่ 4 ของรายงาน ศปร.นี้ ได้กล่าวถึง การแก้ปัญหาธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือ บีบีซี ที่ล้มเหลว โดยสรุปว่า เป็นความล้มเหลวที่เกิดจาก ความไม่โปร่งใส และการแก้ปัญหาแบบไม่เด็ดขาด ของผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติในขณะนั้น ซึ่งทำให้ปํญหาแบงก์บีบีซีรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุด กระทรวงการคลังต้องเข้าควบคุมกิจการ และ การแก้ปัญหาแบงก์บีบีซี อย่างไม่โปร่งใสในครั้งนั้น ยังเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

รายงาน ศปร. สรุป การแก้ปัญหาแบงก์บีบีซีว่า

"เมื่อพิจารณาการดำเนินการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ ของ ธปท. โดยรวมทั้งโครงการแล้ว คงจะต้องกล่าวว่า ปราศจากความโปร่งใส และความเด็ดขาดในการแก้ไขสถาบันการเงิน ที่มีปัญหาอย่างจริงจัง และรวดเร็ว ทันกับเวลา มาตรการต่างๆเอื้อประโยชน์กับผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่กิจการธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ และผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอด สำหรับการตรวจสอบนั้นมีข้อน่าสังเกตคือ ถึงแม้ว่า จะได้พบว่า ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ มีปัญหาและมีปัญหามาก ขนาดมีสินทรัพย์จัดชั้นสูงถึงร้อยละ 26.73 ของทรัพย์สินทั้งสิ้น และในการตรวจสอบต่อมาก็ปรากฎว่า มีสถานการณ์การเงินเลวลงอีก ธปท. ก็ยังให้มีการตรวจสอบ และรายงาน เป็นปกติ เหมือนการตรวจสอบที่ไม่มีปัญหา ไม่มีหลักฐานว่า ได้มีการตรวจสอบ และรายงานเป็นพิเศษ ..."

"บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบาย และปฏิบัติการช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ ได้แก่นายวิจิตร สุพินิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ถึง วัน ที่ 30 มิถุนายน 2539 สืบต่อโดยนายเริง ชัย มะระกานนท์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการธนาคาร ธปท. ระหว่างกรกฎาคม 2539- กรกฎาคม 2540 แต่ความรับผิดชอบในเรื่องการไม่ลดทุน ก่อนการช่วยเหลือ และการดำเนินการไม่เด็ดขาด เป็นของนายวิจิตร สุพินิจ เกือบทั้งหมด นายเริงชัย รับผิดชอบเฉพาะการเพิ่มทุน โดยใช้เงินกองทุนฟื้นฟู โดยไม่ลดทุนในครั้งหลัง เมื่อทางการได้เข้าควบคุม ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การแล้ว นายเริงชัยได้ให้เหตุผลในการไม่ลดทุนว่า ทางการได้ซื้อหุ้นไปมากแล้ว หากลดทุนก็จะเสียหาย เป็นเหตุผลที่ฟังได้มากกว่าที่กล่าวอ้างในอดีต..."

การดำเนินมาตรการแบบไม่เด็ดขาด เอื้ออำนวยให้มีการทำหนี้เสียเพิ่มเติม และเป็นปัญหายืดเยื้อ มีการบริหารผิดพลาดเพิ่มเติม จนเกิดความเสียหายแก่เงินของเอกชน เงินของธนาคารออมสิน และเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นอันมาก หากได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเด็ดขาด โดยประกาศลดทุน เพิ่มทุน และเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเสียแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะสกัดความเสียหายให้ลดลงได้มาก

การไม่ยอมดำเนินการลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนผู้บริหารแบบตรงไปตรงมา มีผลต่อ ธปท. มาก ก่อนกรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ ธปท. เป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพ และมีชื่อเสียงที่ดียิ่ง ทั้งนับเป็นเวลาหลายสิบปี ที่ ธปท. ได้รักษาตนเองมาอย่างดี ในฐานะเป็นสถาบันแบบมืออาชีพ ปฏิบัติงานแบบตรงไปตรงมา ปลอดการเมือง แต่ในระยะหลัง ผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน ได้นำตัวเข้าไปอิงการเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน มีการปฏิบัติงานแบบไม่โปร่งใสและยืดเยื้อ

ในกรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ เป็นกรณีที่ทำให้ความน่าเชื่อถือ ของธปท. ในสายตาของประชาชน และนักลงทุนต่างประเทศลดลง ยิ่งมีกรณีการกล่าวโทษเลขาธิการ ก.ล.ต.ในขณะนั้นคือ นายเอกมล คีรีวัฒน์ ( ซึ่งดำรงตำแหน่ง เป็นรองผู้ว่า ธปท.ด้วย) โดยผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ในขณะนั้น ( นายเสรี จินตนเสรี) ทั้งสามท่าน ต่างเป็นนักเรียนทุนที่ ธปท. ส่งไปศึกษาในต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยทุนของ ธปท. และเคยปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสถาบันเดียวกัน ความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในสายตาของสาธารณชนก็ยิ่งลดลงอีก ในขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานน ใน ธปท.เอง ก็ได้แจ้ง ศปร.ว่า มีความเคลือบแคลง ในการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน และยิ่งมีกรณีการกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น พนักงานธปท.เองก็เกิดความไม่แน่มใจ และแตกแยกเป็นพรรคเป็นพวกไปด้วย

หากพิจารณาด้วยความยุติธรรม คงจะต้องกล่าวว่า กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ มิใช่กรณีเดียว ที่สามารถทำลาย ชื่อเสียง ศักยภาพ และมีผลให้ ธปท. ตกต่ำในสายตาสาธารณชน เช่นในปัจจุบัน แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นสาเหตุ ที่สำคัญมาก และผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ที่ก่อเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้อาจไม่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย แต่ก็สมควรต้องรับผิดชอบในการทำลายชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของสถาบันที่มีชื่อเสียง มากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในสายตาของสาธารณชน

เรื่องแบงก์บีบีซี ถูกพรรคประชาธิปัตย์ นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปาชา เมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2539 ทำให้ประชาชนแตกตื่น ไปถอนเงินจากธนาคาร กระทรวงการคลัง ต้องเข้าควบคุมกิจการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 และสั่งปลดนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นายวิจิตร เองก็ถูกบีบให้ ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539

นายเกริกเกียรติ ถูกดำเนินคดี รวมแล้ว เกือบ 20 คดี มีโทษจำคุกรวมกัน หลายร้อยปี โดนปรับเป็นเงินนับพันล้านบาท ส่วนนายวิจิตร อาศัยสายสัมพัน์กับนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และนายนิพัทธ พุกกะณะสุต เข้าเป็นมือไม้ของระบอบทักษิณในตลาดทุน ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อครบวาระแล้ว ก็โยกมากินตำแหน่ง ประธานกรรมการ ก.ล.ต. จนถูกจับได้ว่า 15 ปีผ่านไป นิสัยไม่เคยเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น