การถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยของนายราเกซ สักเสนา ทำให้เรื่องราวความล่มสลายของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือ บีบีซี ที่เกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้วเป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ตัวละครที่มีบทบทสำคัญ นอกจาก นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการแบงก์บีบีซี นายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของนายเกริกเกียรติ และนักการเมืองกลุ่ม 16 ซึ่งร่วมกับนายราเกซ ผ่องถ่ายเงินจำนวนมากออกจากธนาคารแล้ว ยังมีนายวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นด้วย
ถ้านายวิจิตร ทำหน้าที่ด้วยความโปร่งใส และเด็ดขาด ชะตากรรมของแบงก์บีบีซี อาจจะออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่เลวร้าย และไม่ลุกลามถึงขั้นฉุดระบบการเงินของไทยให้พังทลายก็ได้
ในเดือนธันวาคม 2540 หลังเกิดวิกฤตการณ์การเงิน นายธารินทร์ นิมมาณ- เหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในตอนนั้น มีคำสั่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) โดยมีนายนุกุล ประจวบเหมาะ เป็นประธาน
ศปร. มีหน้าที่ หาคำตอบว่า อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงิน และจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร โดยการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ
หนึ่งในหลายๆ กรณีที่ ศปร. ให้ความสนใจคือ การช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และผลกระทบต่อระบบการเงิน
ในรายงาน ศปร. สรุปไว้ว่า "เมื่อพิจารณาการดำเนินงานช่วยเหลือธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การของ ธปท. โดยรวมทั้งโครงการแล้ว คงจะต้องกล่าวว่าปราศจากความโปร่งใส และความเด็ดขาดในการที่จะแก้ไขสถาบันการเงินที่มีปัญหาอย่างจริงจังและรวดเร็วทันกับเวลา
มาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่กิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอด"
ที่รายงาน ศปร. บอกว่า มาตรการต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารเดิมที่สร้างปัญหาแก่กิจการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและผู้ถือหุ้นเดิมมาโดยตลอดนั้น หมายถึงการที่นายวิจิตร สั่งให้บีบีซี เพิ่มทุน 2 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2538 และมีนาคม 2539 โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้าซื้อหุ้นทั้งสองครั้ง เป็นมูลค่า 750 ล้านบาท และ 5,400 ล้านบาทตามลำดับ โดยไม่สั่งให้ บีบีซี ลดทุนก่อน
หลักการของการลดทุนก่อนการเพิ่มทุนก็เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นเจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการ บริหารที่ผิดพลาด แต่ถ้า ธปท.เข้าไปสั่งการให้เพิ่มทุน ชักชวนให้บุคคลที่สามเข้าร่วมซื้อหุ้นเพิ่มทุน ชักชวนให้ธนาคารออมสินของรัฐบาลเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน และนำเงินกองทุนฟื้นฟูฯ ไปซื้อหุ้นด้วยโดยมิได้ลดทุนก่อน ก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมมิต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดต่อความผิดพลาดที่เกิดจากการดำเนินงานในอดีตเลย
การเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่มีการลดทุนก่อนทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้รับความเสียหาย เลย และไม่ได้มีการปรับปรุงผู้บริหารอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท. ถูกวิจารณ์มากว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดเท่าที่ควร ก่อให้เกิดความสงสัยในความเป็นธรรมของ ผู้บริหารธนาคารกลาง
นายวิจิตร ได้ชี้แจงต่อ ศปร. ว่า การดำเนินการกับธนาคารโดยไม่ได้สั่งให้ลดทุน เป็นเพราะเห็นว่าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นเพียง ธนาคารเดียวที่เกิดปัญหา อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ และธนาคารแห่งนี้ก็เป็นธนาคารที่อยู่ในความสนใจของสังคมมาก การสั่งให้ลดทุนอาจทำให้ ตลาดรู้ถึงสภาพปัญหาและตื่นตระหนก อันอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินอื่นได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะใช้วิธีนุ่มนวล ไม่ต้องการให้ตระหนกตกใจ ว่าจะมีธนาคารล้ม และพยายามประคับประคองด้วยการแก้ไขปัญหาอย่างเงียบๆ เรียกหนี้คืน และจัดการกับผู้บริหารเดิมให้เสร็จสิ้น ถ้าหากไม่เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียวก็อาจเป็นไปได้ด้วยดีและไม่กระทบกับสถาบันการเงินอื่น อีกประการหนึ่ง หนี้ส่วนใหญ่ที่ต่อมากลายเป็นหนี้มีปัญหานั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากการครอบงำกิจการ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังรุ่งเรืองอยู่ หนี้ส่วนนี้อาจจะไม่มีปัญหา
สรุปสั้นๆคือ นายวิจิตร ต้องการปิดบัง ปัญหาของ บีบีซี และมีความหวังอย่างลมๆแล้งๆ ว่า ถ้าตลาดหุ้นดีขึ้น หนี้ที่เป็นสินเชื่อเทกโอเวอร์ อาจจะไม่มีปัญหา ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเวลาต่อมาคือ การเทกโอเวอร์นั้น เป็นเรื่องที่นายราเกซกุขึ้นมาเองทั้งสิ้น เพื่อผ่องถ่ายเงินออกจากแบงก์บีบีซี คนเป็นถึงผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จะไม่รู้เรื่องแบบนี้เชียวหรือ
อีกเรื่องหนึ่งที่ ศปร.ข้องใจคือ ทำไมแบงก์ชาติ ไม่บังคับให้นายเกริกเกียรติ รับผิดชอบในการบริหารผิดพลาดหรือปลดออกจากตำแหน่งตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ต้องรอจนกระทั่ง กระทรวงการคลัง เข้าควบคุมบีบีซี เสียก่อน จึงปลดนายเกริกเกียรติเมื่อเดือนมิถุนายน 2539
นายวิจิตร ชี้แจงว่า "การที่ในระยะแรกมิได้ดำเนินการถอดถอนนายเกริกเกียรติออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เนื่องจาก ธปท. ต้องการให้นายเกริกเกียรติร่วมมือในการ ติดตามและสะสางหนี้เพื่อลดความเสียหาย"
แต่ ศปร. เห็นว่า นายวิจิตรพูดลอยๆ มิได้มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อดังกล่าว
"ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 ถึง มิถุนายน 2539 เป็นเวลาสองปีเศษ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมีปัญหาเรื่องการบริหารสินเชื่อมาโดยตลอดจนเกิดความเสียหายมากมาย การที่ ธปท. ได้ส่งนายวีรพงษ์ รามางกูร เข้าไปเป็น ที่ปรึกษาคณะกรรมการของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ก็ไม่สามารถควบคุมให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การบริหารงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ ปัญหาทางการบริหารมีมาสม่ำเสมอโดยตลอด เห็นได้จากข้อเท็จจริงว่าระหว่างปี 2535-2537 ธปท. ได้เชิญนายเกริกเกียรติเข้าพบกว่า 5 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 ได้เชิญนายวีรพงษ์และนายเกริกเกียรติ เข้ารับทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข และในช่วงปี 2537-2539 ได้มีหนังสือสั่งการให้ ปฏิบัติให้เหมาะสมถูกต้องจำนวนกว่า 14 ฉบับ รวมทั้งสั่งให้ระงับการให้สินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการ และสั่งมิให้นายราเกซ สักเสนา เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
ในช่วงที่มีปัญหาทาง การบริหารกับนายเกริกเกียรติและธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ธปท. กลับสั่งให้เพิ่มทุน และเมื่อจำหน่ายหุ้นไม่ได้ก็ไปชักชวนกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ และธนาคารออมสินเข้ามาซื้อหุ้น รวมทั้งใช้เงินกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหุ้น เพื่อให้การบริหารอย่างไม่ถูกต้องของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยมิได้ มี การแก้ไขในด้านการบริหารให้ลุล่วงไปเลย"
ศปร. สรุปตบท้ายว่า "การดำเนินมาตรการแบบไม่เด็ดขาดเอื้ออำนวยให้มีการทำหนี้เสียเพิ่มเติม และเป็นปัญหายืดเยื้อ มีการบริหารผิดพลาดเพิ่มเติม จนเกิดการเสียหาย แก่เงินของเอกชน เงินของธนาคารออมสิน และเงินของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นอันมาก หากได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเด็ดขาดโดยประกาศลดทุนเพิ่มทุน และเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโดยเด็ดขาดเสียแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะสกัดความเสียหายให้ลดลงได้มาก
การไม่ยอมดำเนินการลดทุนเพิ่มทุน เปลี่ยนแปลงผู้บริหารแบบตรงไปตรงมา มีผลต่อ ธปท. มาก ก่อนกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ธปท. เป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีศักยภาพและมีชื่อเสียงที่ดียิ่ง ทั้งเป็นเวลานับหลายสิบปีที่ ธปท. ได้รักษาตนเองมาอย่างดีในฐานะเป็นสถาบัน แบบมืออาชีพ ปฏิบัติงานแบบตรงไปตรงมา ปลอดการเมือง แต่ในระยะหลังผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน ได้นำตัวเข้าไปอิงการเมือง อย่างเห็นได้ชัดเจน มีการปฏิบัติงานแบบไม่โปร่งใสและยืดเยื้อ
หากพิจารณาด้วยความยุติธรรมคงจะต้องกล่าวว่ากรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การมิใช่กรณีเดียวที่สามารถทำลายชื่อเสียง ศักยภาพ และมีผลให้ ธปท. ตกต่ำในสายตาของสาธารณชนเช่นในปัจจุบัน แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสาเหตุที่สำคัญมาก และผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ที่ก่อให้เกิดเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้อาจไม่ต้องรับผิดชอบในทางกฎหมาย แต่ก็สมควรต้องรับผิดชอบในการทำลายชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของสถาบันที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในสายตาของสาธารณชน
ทำไม นายวิจิตรจึงเอื้ออาทรต่อนายเกริกเกียรติ และแบงก์บีบีซี เช่นนี้
ประการแรก เพราะเป็นพวกแบงก์ชาติด้วยกัน นายเกริกเกียรติเป็นผู้บริหารระดับกลาง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนวิเคราะห์สถาบันการเงิน ก่อนที่จะลาออกจากแบงก์ชาติในเดือนพฤษภาคม 2529 เพื่อมาบริหารแบงก์บีบีซี ที่แม่ของเขา นางอินทิรา ชาลีจันทร์ เพิ่งจะยึดอำนาจคืนมาจากนายธนิต พิศาลบุตร โดยชวนเพื่อนจากแบงก์ชาติมาอีก 2 คน คือ นายเอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และนายประภาส ประภาสโนบล หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์
ประการที่สอง ผลประโยชน์ต่างตอบแทน นายวิจิตร อาจจะเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนแรก และคนเดียว ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ และบังเอิญว่า เป็นแบงก์บีบีซีด้วย โดยขอวงเงินกู้โอดี 3 ครั้ง ครั้งแรกตอนเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2533 ครั้งที่สองเป็นผู้ว่าการแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2535 และครั้งที่ 3 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 ในช่วงที่บีบีซี ถูกแบงก์ชาติตรวจสอบอย่างหนักกรณีปล่อยเงินกู้เพื่อเทกโอเวอร์ โดยมีวงเงินกู้รวม 5 ล้านบาท
นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวที่มีหลักฐานปรากฏ ไม่รู้ว่า ยังมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนในรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ เช่น การเอนเตอร์เทนแบบสุดๆ ที่นายราเกซจัดให้
นายวิจิตร เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติต่อจากนายชวลิต ธนะชานันท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2533 โดยการผลักดันของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกของ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ลงนามแต่งตั้งนายวิจิตรคือ นายวีรพงษ์ รามางกูร นักวิชาการภาพดี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 3 เดือนเศษ
ในปี 2535 นายวิจิตร ตอบแทนนาย วีรพงษ์ แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบีบีซี แต่นายวีรพงษ์ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์แบงก์บีบีซีดีขึ้น นั่งกินเงินเดือนอยู่นาน จนแน่ใจว่า ไปไม่รอดแน่ จึงลาออกในปี 2538
นายวิจิตร จำต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาแบงก์บีบีซี ในเดือนกรกฎาคม 2539 สายสัมพันธ์กับนายพันศักดิ์ ทำให้เขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเศรษฐกิจของระบอบทักษิณ โดยได้เป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ระหว่างปี 2546-2550 และปัจจุบันเป็นประธาน ก.ล.ต. โดยการเสนอชื่อของ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยที่ไม่ยอมลาออกจากการเป็นประธานกรรมการตรวจสอบอิสระของธนาคารทหารไทย และประธานคณะกรรมการบริษัทจี สตีล จำกัด(มหาชน) ทั้งๆ ที่เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน เหมือนตอนที่เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติ แล้วไปขอกู้เงินจากแบงก์บีบีซี