xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ลดอันดับเครดิต TTA เป็น BBB (tha)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯ ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ “โทรีเซนไทย เอเยนซีส์”เป็น BBB (tha) จาก BBB+ (tha) และแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ผลจากภาวะตลาดที่อ่อนแอต่อเนื่องของธุรกิจเรือเทกองแห้ง และกำไรที่จำกัดจากธุรกิจใหม่ ขณะแผนลดต้นทุนและการกระจายรายได้จากธุรกิจอื่นที่มากขึ้น ช่วยหนุนผลประกอบการและกระแสเงินสดได้

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวหนี้ไม่มีหลักประกันของบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็น “BBB(tha)” จาก “BBB+ (tha)” และแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่ฟิทช์คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 4.0 เท่าถึง 5.5 เท่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากภาวะตลาดที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง (Dry Bulk Shipping) รวมถึงผลกำไรที่ยังจำกัดจากธุรกิจใหม่ๆ ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไป ซึ่งได้แก่ธุรกิจถ่านหิน และลอจิสติกส์ ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทฯ น่าจะสามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าอัตราค่าระวางเรือน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่แผนการลดต้นทุนที่ประสบความสำเร็จของบริษัทฯ รวมถึงการกระจายตัวของรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ที่มีมากขึ้นน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับผลประกอบการและกระแสเงินสดไว้ได้

ผลประกอบการของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องในปีงบการเงิน 54 (สิ้นสุด 30 ก.ย.54) และไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 55 แม้ว่าธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (Offshore Service Business) จะเริ่มพลิกฟื้น แต่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของบริษัทฯ ในปีงบการเงิน 54 ยังคงลดลง 18.1% จากงบปี 53 ขณะที่มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ลดลงเหลือ 13.4% จาก 16.1%

โดยไตรมาสแรกปี 55 บริษัทฯ ยังได้รับผลกระทบเพิ่มจากการที่บริษัทยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) (UMS) ในช่วงเดือนต.ค.และพ.ย.54 ทำให้กำไรEBITDA ลดลง 39% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบการเงินก่อน โดยบริษัทฯ มี EBITDA ต่อรายได้ 10.8% ขณะอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย 12 เดือนล่าสุด (Net Debt to last 12 months EBITDA) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.8 เท่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.54 จาก 1.8 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 53

อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตได้ถูกลดทอนจากลักษณะความเป็นวัฏจักรของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองที่มีความผันผวนสูง และอยู่ในภาวะตกต่ำที่น่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากปริมาณเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองที่มีมากกว่าความต้องการขนส่งสินค้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราค่าระวางเรือ

อันดับเครดิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ ที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองมากขึ้น ทั้งธุรกิจถ่านหิน และลอจิสติกส์ที่ครบวงจร และการพลิกฟื้นของธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง น่าจะมีส่วนช่วยชดเชยรายได้ที่อาจสูญเสียไปจากธุรกิจเดินเรือช่วงปี 55-56 ส่วนธุรกิจใหม่ๆ ที่ลงทุนน่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันอย่างทวีคูณ รวมถึงช่วยลดความผันผวนและความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดได้ในระยะยาว

อันดับเครดิตของ TTA ยังได้พิจารณาถึงความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อันยาวนาน และสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง และธุรกิจบริการนอกชายฝั่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย การเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสดจากทั้งธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) ลดลงต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท

ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลลบต่ออันดับเครดิต ได้แก่ ภาวะตกต่ำของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองที่รุนแรงและยืดเยื้อเกินกว่าปี 57 การหยุดชะงักของการพลิกฟื้นของธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุน และการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย สูงเกินกว่า 6.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ/หรือ หากสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อดอกเบี้ยจ่ายและค่าเช่า (Fixed Charge Coverage) ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า หรือหากเจ้าหนี้ธนาคารมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อสภาพคล่องของบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น