“คลัง” แจงส่งร่าง พ.ร.บ.ควบรวมกิจการในตลาดทุนให้กฤษฎีกา ตั้งแต่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เล็งลดอุปสรรคด้านภาษี พร้อมหนุนควบรวมกิจการ “กิตติรัตน์” แนะแบงก์ชาติ ควรดูแลค่าบาทให้อ่อน เพื่อช่วย “ภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอี” ขยายตัวเพิ่ม ลั่นการขึ้นค่าแรง 300 บาท กระตุ้นกำลังซื้อ “เอสเอ็มอี” ยอดขายเพิ่ม พร้อมส่งสัญญาณเก็บภาษีที่ดิน ยึดผู้มีรายได้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลัก พร้อมแจงสาเหตุการออก กม.ล่าช้าไม่ได้ห่วงคนรวยตามที่เป็นข่าว
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเปิดงานเสวนาการควบรวมกิจการ ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจไทย โดยระบุว่า รัฐบาลได้ส่งสร้างพระราชบัญญัติในการส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน ให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา
โดยในระหว่างนี้ทางภาคเอกชนสามารถสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เพื่อให้การออกพระราชบัญญัติมีความรอบครอบและเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ทางกระทรวงการคลังในขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาภาษี ที่เป็นอุปสรรคต่อขั้นตอนการควบรวมกิจการ เพื่อให้การควบรวมกิจการเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะการควบรวมกิจการนั้น จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น
“ช่วง 2-3 เดือนนี้น่าจะเห็นความคืบหน้าความชัดเจนมาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการควบรวม ซึ่งไม่เฉพาะบริษัทใหญ่ บริษัทเล็กก็สามารถควบรวมได้”
สำหรับในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจไม่เห็นการควบรวม เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว แต่จะเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจอื่นๆ
ส่วนในเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องรีบพิจารณา และยังมีข้อกังวลว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย หากไม่พิจารณาความสามารถด้านรายได้ เพราะอาจเป็นการเพิ่มภาระทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและมีทรัพย์สินต้องมีค่าใช้จ่ายมาเสียภาษี
“เป็นการเข้าใจผิดว่าจะเป็นการเก็บภาษีจากคนรวย แต่ในที่สุดข้อเท็จจริงก็จะเรียนให้ทราบว่าผู้ที่มีรายได้น้อย มีทรัพย์สินอยู่น้อยก็ต้องเสียภาษี ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ”
นอกจากนี้ การพิจารณาจะต้องมีการคำนึงถึงผู้ที่มีรายได้ของผู้ที่มีทรัพย์สิน เนื่องจากมีข้อกังวลว่า อาจทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินและทรัพย์สินได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ยืนยันว่า การพิจารณาที่ล่าช้าอยู่ในขณะนี้นั้น ไม่ได้เป็นเพราะทางภาครัฐมีการห่วงคนรวยที่มีทรัพย์สินมากตามที่เป็นข่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในขณะนี้ หลายบริษัทในภาคเอกชนได้มีการปรับค่าแรงขึ้นไปตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายบริษัทก็เห็นประโยชน์ของการปรับขึ้นค่าแรงแล้วว่า จะทำให้เกิดแรงซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น จะได้รับประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดจากการปรับขึ้นค่าแรง เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับภาวะค่าเงินบาท มองว่า ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายในต่างประเทศได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นกำลังใจในการทำงาน ส่วนแนวทางทำให้เงินบาทอ่อนค่านั้น ตนเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว