xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนกู้ 3.5 แสนล. ตามเกณฑ์ พ.ร.บ. เล็งกู้แบงก์ก่อน ออกพันธบัตรตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - คลังพร้อมเดินหน้ากู้ 3.5 แสนล้านตาม พ.ร.ก.ป้องกันน้ำท่วม เล็งออกกู้เงินจากตลาดตามจังหวะการใช้เงินก่อนแปลงเป็นพันธบัตรระยะยาว ขณะที่ สศค.ระบุหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47% ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พร้มที่จะดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 3.5 แสนล้านบาท พ.ศ.2555 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายในทันทีหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ รูปแบบการกู้จะต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินตามโครงการต่างๆ ที่ทยอยออกมาตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กำหนด โดยในเบื้องต้นอาจกูเงินในรูปแบบของ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ( P/N ) เป็นล็อตๆ อาจกู้จากสถาบันการเงินครั้งละ 3-6 หมื่นล้านบาทตามโครงการที่ต้องการใช้เงินในขณะนั้นเพื่อให้ต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลต่ำที่สุด

“ตอนนี้โครงการเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำต่างๆ ยังอยู่ที่กยน.เป็นผู้รวบรวมทั้งหมดซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้คงส่งมาถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เป็นระยะๆ ตามความต้องการใช้เงิน โดยทางสบน.มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งในเบื้องต้นอาจกู้เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงินก่อนแล้วค่อยแปลงสภาพเป็นพันธบัตรระยะยาวในภายหลังเพื่อให้ต้นทุนทางการเงินถูกที่สุด” นายอารีพงศ์กล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การกู้เงินตามพ.ร.ก.เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังจากที่ไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจหดตัวลงมากจากปัญหาน้ำท่วม โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามพ.ร.ก.ในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยผลัดดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 เติบโตได้ที่ 5.0% ตามที่สศค.คาดการณ์ไว้

ในขณะที่กรอบวงเงินการก่อหนี้เพิ่มเติมจากพ.ร.ก.เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทจะส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาจากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ 4.29 ล้านล้านบาท หรือ 40.3% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46 - 47% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในวิสัยที่รับได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดรวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไว้ที่ 60% ของจีดีพี

“ตอนนี้เรายังเหลือช่องว่างในการกู้ถึง 2 ล้านล้านบาทจึงจะเต็มเพดานการกู้ยืมตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ที่ 60% ดังนั้นการกู้ยืมเพิ่มตามพ.ร.ก.เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนปัญหาเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนของรัฐบาลแม้เกิดขึ้นมาบ้างแต่ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควบคุมได้อย่างเหมาะสมอยู่แล้ว” นายสมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น