xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผย ปชช.เชื่อปีนี้ น้ำท่วมอีกแน่นอน "สมิทธ" เตือน กทม. จมน้ำถาวร แนะสร้างเขื่อนปิดอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิด้าโพล เผยผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่ เชื่อปีนี้ บ้านโดนน้ำท่วมอีกแน่นอน ชี้ โครงสร้างสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาที่ล่าช้าของรัฐบาล เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ "สมิทธ" เตือน กรุงเทพ-ปริมณฑล อาจโดนน้ำท่วมแบบถาวร ภายในไม่กี่ปีนี้ เล็งชงรัฐบาลสร้างเขื่อนปิดอ่าวไทย ตั้งแต่แปดริ้วยันหาดชะอำ เพื่อกั้นน้ำไม่ให้เข้าด้านใน ยอมรับ รู้สึกเซ็งถูกตั้งเป็น กนย. แต่วิจารณ์นโยบายไม่ได้ บ่นอยากให้ปลดเต็มทีแล้ว จะได้พูดได้มากขึ้น กนอ. มันใจแผนป้องกันน้ำท่วม 5 นิคมอุตฯ เสร็จทันกลางปีนี้ แน่นอน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเตรียมรับมือเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555" จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,277 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.49 เชื่อว่าในปี 2555 นี้จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแน่นอน เพราะ สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ถูกทำลาย รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และ การทำงานที่ล่าช้าของรัฐบาล, ร้อยละ 19.66 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 17.85 เชื่อว่าน้ำท่วมไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่น่าจะเกิดซ้ำสอง

ด้านความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 50.20 ระบุมั่นใจแค่ปานกลางเท่านั้น, ร้อยละ 19.20 เชื่อมั่นน้อย, ร้อยละ 18.10 ไม่เชื่อมั่น, ร้อยละ 9.80 เชื่อมั่นมาก และ ร้อยละ 2.70 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ส่วนสาเหุตหลักของการเกิดน้ำท่วม ประชาชนร้อยละ 45.30 นั้นเชื่อว่าเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ เช่นการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ, รองลงมา ร้อยละ 36.20 เชื่อว่าเป็นภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝนที่ตกมากเกินไป, ร้อยละ 17.50 อุปสรรคในการระบายน้ำ เช่น สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ ขยะมูลฝอย ผักตบชวา, ร้อยละ 1.00 อื่นๆ เช่น มนุษย์ทำลายป่าไม้ และ ร้อยละ 0.02 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ประชาชนร้อยละ 39.47 ระบุขอดูสถานการณ์ก่อนเพราะอยากติดตามข่าวสาร ข้อมูลยังไม่ชัดเจนไม่อยากวิตกกังวลไปก่อน, ร้อยละ 36.02 ระบุยังไม่ได้เตรียมเพราะที่พักอาศัยอยู่ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง, ร้อยละ 23.10 เตรียมตัวอย่างมาก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ป้องกันไว้ก่อนจะได้ไม่สูญเสียมาก และ ร้อยละ 1.27 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน(กยน.) กล่าวบรรยายหัวข้อ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกกับผลกระทบทางภัยพิบัติที่มีต่อประเทศไทย ในงานสัมมนาเรื่อง บทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งจัดโดยนิสิตปริญญาโทสาขาบริหารและพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยยืนัยนว่า ตนเองคงไม่การันตีว่าภัยธรรมชาติในอนาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่จากวิทยาศาสตร์ที่ตนมีอยู่ก็จะมีโอกาสเกิดภัยธรรมชาติแน่นอน แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะระบุได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นที่ไหนและเวลาใด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์

โดยภัยธรรมชาติที่สำคัญจะเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และสภาวะโลกร้อน ทั้งนี้โลกเราเปรียบเสมือนลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่ ซึ่งอีกไม่กี่ร้อยปี หรือล้านปี ลูกข่างก็จะหมดแรงเฉื่อย และเมื่อถึงวันนั้นโลกจะล่มสลาย ซึ่งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศจีนและประเทศอียิป ก็เป็นตัวที่เร่งเร้าให้โลกล่มสลาย เพราะทั้ง 2 เขื่อนเป็นการกักเก็บน้ำที่ควรจะไหลไปสู่เส้นศูนย์สูตรโลก แต่ก็มีการกักเก็บไว้แทน ซึ่งการสร้าง 2 เขื่อนนี้ก็เปรียบเสมือนการนำดินน้ำมันไปติดไว้ที่ปลายลูกข่าง จะทำให้ล้มได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวล คือ การระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่ไม่สามารถเห็นได้ เพราะจะทำให้เกิดภัยภิบัติที่นำไปสู่คลื่นสึนามิได้ แต่ขณะนี้มีการพบปรากฏการณ์ใหม่ การระเบิดของผิวดวงอาทิตย์ ในแต่ละครั้งจะปลดปล่อยพลังงานมหาศาล มีผลกระทบต่อโลกอย่างมากโดยเฉพาะช่วงเวลาที่โลกโคจรผ่าน ก็จะมีผลกระทบต่อเปลือกโลก

โดยเหตุการณ์ที่น้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 ที่มีพายุนกเต็นเกิดขึ้นในภาคเหนือของไทยนั้น จากข้อมูลพบว่าก่อนเกิดพายุ 3 วันมีการระเบิดของลมสุริยะ ทำให้มีปริมาณฝนในพายุต่างๆ มีมากกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถคำนวณข้อมูลได้ถูกต้อง ขณะที่ประเทศไทยมีรอยเลื่อนทั้งหมด 13 รอย อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์กับเจดีย์สามองค์ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างเขื่อนทับรอยเลื่อนนี้

ขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยรับสั่งกับตนว่าประเทศไทยเคยเกิดภัยพิบัติสึนามิมาแล้วเมื่อ 100 กว่าปีก่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งตนได้ค้นพบข้อมูลของประเทศเนเธอแลนด์ ก็พบข้อเท็จจริงว่าแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2426 มีผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คนโดยเหตุครั้งนั้นมีคลื่นมาถึงฝั่งตะวันตกของไทยด้วย

"จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของผม ที่ได้ศึกษามาเชื่อได้ว่าจะเกิดสึนามิอีกแน่นอน เกิดได้จาก 2 จุดที่จะกระทบฝั่งตะวันตกของไทยฝั่งอันดามันตั้งแต่ จ.ระนอง ถึง จ.สตูล และฝั่งตะวันออก ด้านอ่าวไทย พื้นที่ปลอดภัยที่สุดของประเทศไทยจะอยู่ที่ภาคอีสาน เพราะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ก็ศึกษาพบว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จะถูกน้ำท่วมถาวร"

ทั้งนี้ หากจะไม่ให้ท่วมพื้นที่ดังกล่าว เราก็ต้องทำเขื่อน ผมจะเสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ถึงอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาภายในได้ บนเขื่อนก็ให้รถวิ่งได้ และค่าสร้างเขื่อนนี้ก็เท่ากับการสร้างรถไฟฟ้า 1 สาย ผมจะทำเรื่องถึงรัฐบาลให้พิจารณา เพราะไม่เช่นนั้นรถไฟฟ้าที่กำลังสร้างกันอยู่หลายสายก็จะถูกน้ำท่วม

ส่วนเรื่องน้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ต้องโทษมนุษย์ที่บริหารไม่เป็น ซึ่งการตั้งผมเป็น กยน. ก็มีการทักท้วงว่าผมวิจารณ์มากเกินไป ผมก็อยากให้ปลดจะได้วิจารณ์ได้มากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ปลด ซึ่งอาจจะปลดในเร็วๆ นี้ก็ได้

ขณะที่ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและรับฟังแนวทางป้องกันอุทกภัยใน 5 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมบางชัน นิคมบางปู นิคมบางพลีและนิคมสมุทรสาคร โดยทางการนิคมอุตสาหกรรม กนอ.จะใช้งบประมาณก่อสร้างพนังกั้นน้ำเสริมแผ่นเหล็ก เสริมคันดินเพื่อป้องกันน้ำมากในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ กนอ.ไปหารือกับทางกรุงเทพมหานครศึกษาการจัดทำประตูระบายน้ำในเขตพื้นที่โดยรอบการนิคมลาดกระบังทั้งหมด หากจำเป็นต้องจัดทำประตูระบายน้ำโดยรอบจะได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อของบประมาณมาดำเนินการได้ต่อไป แต่โดยรวมแผ่นป้องกันน้ำใน 5 นิคมหลังจากได้รายงานจะเสร็จทันกลางปีนี้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น