xs
xsm
sm
md
lg

BBLเกี่ยงลดดอกเบี้ย ระบุ2มาตรฐานทำระบบเสื่อม ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กแบงก์กรุงเทพยันยังไม่พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยจนกว่าจะสรุปกรณีนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู ระบุ 2 มาตรฐานทำประสิทธิภาพกำกับดูแลไม่ได้ผลเท่าที่ควร ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย
 

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BBL) กล่าวว่า ธนาคารจะยังไม่มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากในขณะนี้ แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกรอบ เนื่องจากรอความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินนำส่งเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่าจะเก็บในอัตราใด และอยู่บนพื้นฐานเดียวกับกับธนาคารรัฐหรือไม่

ทั้งนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากเป็นเรื่องของการแข่งขัน สะท้อนการดูแลนโยบายการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะต้องเข้ามาดูแล

"ตราบใดที่สถาบันการเงินยังเป็นสองระบบ ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลก็จะลุ่มๆดอนๆ ซึ่งในเรื่องนี้การนำส่งเงินกองทุนนั้น สมาคมธนาคารไทยก็ได้มีการแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ก็คือมองว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมควรจะมีกลไกการแก้ไขปัญหากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รวมถึงนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพ"

ชี้3ปัจจัยเสี่ยงศก.ไทย

นอกจากนี้ ยังกล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ"ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในปี 55" ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยาตัวได้ในอัตรา 4-5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตจากฐานปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบน้ำท่วม โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นช่วงของการฟื้นฟู อัตราการเติบโตคงยังไม่มาก แต่ในไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวได้มากขึ้น และไตรมาส 4 ขยายตัวได้สูงสุด เพราะเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีฐานต่ำ

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ มีความซับซ้อน โดยยังมีแรงกดดัน 3 ด้าน คือ เรื่องต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงและราคาน้ำมัน ขณะที่การส่งออกที่ในปีนี้คงไม่สามารถพึ่งพาให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แม้ไทยกระจายตลาดไปยังจีนและอาเซียนมากขึ้น แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่บ้าง

และปัจจัยที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญ คึอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดว่าปีนี้จะมีกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และจะพบว่าหลายประเทศจะพยายามไม่ให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนค่า ซึ่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้และเข้าไปดูแลได้ลำบาก
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจอีก 3 ด้าน คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลของบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้จัดอันดับหายนะสำคัญของโลก 10 อันดับแรกในรอบ 32 ปี พบว่ามหาอุทกภัยของไทยติดอันดับ 7 ร่วมกับเหตุการณ์พายุแคทาลีนาที่สร้างความเสียหายสูงถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น