xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตือนบาท-หุ้นผันผวนขึ้นลงเร็ว แนะจับตา "กรีซ" ชำระหนี้ 20 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเตือนความผันผวนมาเยือน ชี้บาทแข็ง-หุ้นขึ้นเรวก็มีสิทธิ์ลงเร็ว ห่วงปัจจัยความเสี่ยงในต่างประเทศช่วงก่อนกรีซชำระหนี้ก้อนใหญ่ 20 ก.พ.นี้

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้ช่วยผู้วาการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ว่า ข่าวดีของเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศออกมาทำให้มีเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร รวมทั้ง ตลาดการเงินลุ้นข่าวดีต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป ทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทน และความเสี่ยงสูงในประเทศเกิดใหม่

อย่างไรก็ตาม ภาวะความผันผวนของเงินทุนจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตามข่าวที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้า และออกของเงินทุนต่างชาติในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งในประเทศไทยจะเร็วขึ้น และเร็วมากกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น นักลงทุนระมัดระวังความผันผวนที่มีสูงขึ้น รวมทั้งการวิ่งขึ้นวิ่งลงของค่าเงิน และตลาดหุ้นที่อาจจะมีความรวดเร็ว

“เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงได้แน่นอน ตามปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ ถ้าสหรัฐฯ และยุโรปยังมีข่าวดีต่อเนื่อง การลงทุนก็จะกระจายมายังเอเชีย โดยจุดที่จะต้องจับตาอีกครั้งคือในวันที่ 20 ก.พ.ซึ่งประเทศกรีซจะครบกำหนดชำระคืนพันธบัตรจำนวนมาก ดังนั้น จะต้องดูตลาดในช่วงก่อนหน้านั้นว่าจะมีปฏิกริยาอย่างไร”

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินบาทน้อยมาก ทำเฉพาะเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินในช่วงที่มีมากเท่านั้น แต่หากเทียบความแรงของเงินทุนในการเข้า และออกจากประเทศไทยในขณะนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนของเงินทุน และการรวดเร็วในการเข้าออกของเงินทุนของไทยยังต่ำกว่ามาก เช่น ในตลาดตราสารหนี้ เวลาเงินทุนที่เข้ามาจากต่างประเทศแรงๆ จะเข้าไทยประมาณ 7.8% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้ของไทย ทำให้เกิดความผันผวนในระดับหนึ่ง แต่ในตลาดตราสารหนี้มาเลเซียเงินเข้าออกทีหนึ่งสูงถึง 20% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้รวม อินโดนีเซียสูงถึง 30% ของมูลค่าตราสารหนี้รวม เงินทุนเข้าออกแต่ละครั้งทำให้ตลาดผันผวนมาก

"ในระยะใกล้นี้ สหรัฐฯ น่าจะยังไม่ออกมาตรการดังกล่าวออกมา เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาค่อนข้างดี แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จำเป็นที่จะต้องบอกตลาดว่า ได้มีการเตรียมมาตรการไว้ และเมื่อหากมีปัญหาธนาคารกลางพร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง" นางผ่องเพ็ญกล่าวถึงการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ระยะที่ 3 หรือ QE3 ของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น