xs
xsm
sm
md
lg

"กิตติรัตน์" แจงขายหุ้น "ปตท.-บินไทย" ไม่เร่งด่วน หากสังคมยังไม่เข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
รบ.ยอมถอย ขายหุ้น ปตท.-บินไทย "กิตติรัตน์" ยันไม่เร่งด่วน หากสังคมยังไม่เข้าใจ พร้อมโต้ "ธีระชัย" กล่าวหาซุกหนี้-แต่งบัญชี ลั่นไม่เป็นความจริง ส่วนการแปรรูปตลาดหุ้น ยันชัดจุดยืนไม่เห็นด้วย ด้านชมรม กฟน. ยื่นหนังสือค้านต่อนายกฯ


นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการมอบนโยบายให้กับผู้บริการกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า แนวนโยบายการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ เพื่อต้องการให้รัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัวในการทำงาน มากกว่าอยู่ในการกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อเปลี่ยนการขายหุ้นไปอยู่ในมือกองทุนวายุภักษ์ หรือกองทุนอื่นที่รัฐบาลควบคุมดูแล ไม่ใช่เป็นการขายหุ้นให้กับคนอื่น

ทั้งนี้ ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการโดยไม่มีวาระแอบแฝง เพราะเป็นการทำโดยผ่านสาธารณะให้ทุกคนรับรู้ เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกด้าน และยังมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนต้องทำภายในปีนี้หรือปีหน้า เพราะเป็นแผนดำเนินการอีกหลายปี อีกทั้งนโยบายดังกล่าวไม่ใช่เป็นการตกแต่งบัญชี เพื่อหลีกหนีไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่ม รวมทั้งในหลายประเทศที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ส่วนใหญ่จะปล่อยหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไป เพื่อทำธุรกิจโดยอิสระ ทั้งสายการบิน ด้านคมนาคม สถานีโทรทัศน์ และด้านต่างๆ ที่สำคัญรัฐบาลต้องอธิบายให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจจนได้ข้อยุติหากยังไม่มีข้อสงสัยก็จะไม่ดำเนินการ

ส่วนประเด็นการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ที่ให้มีการเก็บค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้อย่างเสรี นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ตนเองไม่เห็นด้วย และได้แสดงเหตุผลจุดยืนชัดเจนมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ก็เป็นเรื่องไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่ยอมเปิดเผยว่า จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งเริ่มเปิดมาตั้งต้นที่ผ่านมา

นายเพียร ยงหนู ตัวแทนพนักงาน การไฟฟ้านครหลวง ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คัดค้านการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ปตท. การบินไทย เพราะหากลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐไม่เกินร้อยละ 50 จะทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ปรับสูงขึ้น เจรจาต่อรองกับภาครัฐไม่ได้ เพราะจะอ้างว่าเป็นการบริหารงานของเอกชนตามกลไกตลาด

"ขณะนี้ยังเจรจาต่อรองกันได้ เมื่อราคาก๊าซปรับสูงขึ้นย่อมกระทบต่อค่าไฟฟ้า เพราะเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในที่สุด และที่ผ่านมาประชาชนต่างคัดด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งด้าน ไฟฟ้า ประปา เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับภาคครัวเรือน"

นอกจากนี้ เห็นว่าหากบริษัทพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีกลุ่มเอกชนเข้ามาแสวงหาผลกำไร ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน การตรวจสอบผ่านกลไกต่าง ๆ จะลดลง และการอ้างว่าต้องระดมทุนมาเพื่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้น มองว่าเป็นการบริหารจัดน้ำที่ผิดพลาดมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น