xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังผันผวน แนะจับตา 1.5 ล้านล.วัดฝีมือ รบ.ปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.หอการค้า คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่น เดือน ม.ค.ยังมีโอกาสผันผวนสูง เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล แนะจับตา พ.ร.ก.4 ฉบับ 6 แสนล้าน การตั้งงบขาดดุล 4 แสนล้าน และการเร่งจ่ายสินไหมประกัน 2 แสนล้าน จะช่วยให้มีเม็ดเงิน 1.1-1.5 ล้านล้านบาท กระตุ้น ศก.เดินหน้าได้อีกครั้ง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของภาครัฐ ที่ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2554 จำนวน 2,242 คน ทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2554 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงและกำลังกลับสู่ภาวะปกติ พร้อมกับ มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมที่คาดว่า จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2555 รวมถึงเทศกาลปีใหม่ส่งผลให้มีการใช้จ่ายตามเทศกาลมากกว่าสถานการณ์ปกติ ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 73. เพิ่มขึ้น จากเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ที่ระดับ 71.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 63.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 92.1 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างมาก

ส่วนแนวโน้มความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสแรกของปี 2555 ยังโอกาสผันผวนและเป็นขาลงได้ เนื่องจากเป็นผลจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลกดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับคืนมา

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการจากสาเหตุหลักคือสถานการณ์น้ำท่วมที่คลี่คลายลง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลดของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากฐานของดัชนีที่ปรับลดลงมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้

สำหรับดัชนีในเดือน ม.ค.-ก.พ.2555 ยังคงผันผวน เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการบริโภคภายในประเทศ และความชัดเจนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ที่หากปัญหายังไม่คลี่คลายมีโอกาสสูงที่จะกระทบประเทศไทยในด้านตลาดเงินและตลาดทุนได้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นขึ้นอยู่กับมาตรการฟื้นฟูของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ พ.ร.ก.4 ฉบับ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยซอฟต์โลนเข้าสู่ระบบได้ในวงเงิน 3 แสนล้านบาท มาตรการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอีก 3.5 แสนล้านบาท รวมไปถึงการที่ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ 4 แสนล้านบาท การเร่งจ่ายสินไหมทดแทนของภาคประกันภัยอีก จำนวน 2 แสนล้านบาท และการเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีก 6 แสนล้านบาท

“เชื่อว่า ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1-1.5 ล้านล้านบาท เข้ามาหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ การบริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 และจะทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5-7% แต่จะต้องขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของภาครัฐ ที่ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น