"คูโบต้า" หนุนเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรทดแทนจมน้ำ ห่วงขั้นตอนการนำเข้ากลับล่าช้า กระทบโรงงานเสียโอกาส รมช.อุตฯ แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดนน้ำท่วม ขณะที่สภาพัฒน์ คาดการณ์ ศก.ไทย ไตรมาสแรก 55 เติบโตได้จากการเร่งฟื้นฟูอุตฯ-ใช้จ่ายงบประมาณ
นายมาซาโทชิ มาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรทดแทนที่เสียหายจากอุทกภัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ว่าขั้นตอนการนำเข้ากลับล่าช้า โดยอาจมาถึงไทยช่วงกลางปี
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว อาจทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานขึ้น และต้องย้ายการผลิตบางส่วนไปที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี รวมถึงนำเข้าชิ้นส่วนบางอย่างจากอินโดนีเซีย
สำหรับมูลค่ายอดขายทั้งในประเทศ และส่งออกปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตัวร้อยละ 20 แม้ช่วงก่อนหน้าเกิดอุทกภัย จะมีความต้องการเครื่องจักรสูงขึ้น และลดลงระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วม แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ปริมาณความต้องการสินค้าน่าจะกลับมาอีกครั้ง
นายสุภาพ คลี่กระจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยระบุว่า โรงงานที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รวมถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้ ซึ่งภาพรวมยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้
ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ได้รับความเสียหาย 2-3 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทเซพสกิล คอร์เปอเรชั่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งผลิตถุงมือยางได้รับความเสียหายรุนแรง และทำให้แรงงาน 2,900 คน ว่างงานชั่วคราว เพราะบริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าได้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ทางบริษัทยืนยันที่จะจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้กับแรงงานทั้งหมด
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดแต่และพื้นที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีสิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรหากต้องเปลี่ยนเครื่องจักร รวมถึงการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 210,000 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับรองแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ไตรมาสแรกปี 2555 จะเติบโตจากการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมให้กลับมามีกำลังการผลิตที่ระดับร้อยละ 80-100 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เป้าหมายการส่งออก ปีนี้เติบโตไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ร้อยละ 15 และผลจากการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในด้านการปรับปรุงซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งการขุดลอกคูคลอง การเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ การสำรองเครื่องสูบน้ำ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำเห็นชอบแผนสำหรับปี 2555-2556 แล้ว วงเงินรวม 17,000 ล้านบาท
นายอาคม กล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งใช้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พร้อมกับให้ความสำคัญกับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ ทั้งนี้ ไทยจะต้องปรับปรุงผลิตภาพและยกระดับคุณภาพสินค้า โดยไม่แข่งขันขายสินค้าราคาถูกอีกต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ตามประมาณการที่ สศช. คาดไว้ที่ร้อยละ 5
ส่วนการจัดหาเงินมาใช้สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) โดยรูปแบบจะเป็นการลดภาระหนี้สาธารณะส่วนที่ไม่ได้ เกิดจากการนำงบพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงหนี้ดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถึงปีละ 65,000 ล้านบาท หากลดลงได้ก็จะทำให้มีช่องว่างที่จะกู้เงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม โดยจะอยู่ในรูปแบบคล้ายกับการกู้เงินของโครงการไทยเข้มแข็ง