xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติซ่อมบ้าน-รถหักภาษีได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ครม.ช่วยผู้ประสบอุทกภัย อนุมัติลดหย่อนภาษีซ่อมบ้านที่ถูกน้ำท่วมได้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ค่าซ่อมรถยนต์ได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท พร้อมเห็นชอบ 5 มาตรการ กู้นิคมอุตสาหกรรม หวังฟื้นฟูฐานการผลิต กระตุ้นเศรษฐกิจ

น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) ว่า ครม.เห็นชอบพิจารณาร่าง กฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเป็นมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้ลดหย่อนภาษียกเว้นเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ที่เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมแซม รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคาร หรือที่อยู่ในเขตอาคารห้องชุดในอาคารชุด และทรัพย์สินที่มีการประกอบการติดตั้งกับตัวอาคาร หรือห้องชุด ในอาคารชุด รั้ว ประตูรั้ว ไม่เกิน 100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ โดยทรัพย์สินที่เสียหายตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.54 ถึง วันที่ 31 ธ.ค.54 และอยู่ในท้องที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย จะต้องใช้สิทธิ์ในการยกเว้นภาษีในปีที่ได้รับค่าใช้จ่ายซ่อมแซม ในปี 2554 หรือในปีภาษี 2555 ถ้าใช้สิทธิ์ยกเว้นในปีภาษี พ.ศ.2554 หรือ 2555 ทั้ง 2 ปี ภาษี รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

2. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษี สำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ โดยกำหนดให้หักค่าลดหย่อนภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมไม่เกิน 30,000 บาท โดยต้องเป็นตามหลักเกณฑ์การเกิดอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.54 ถึง 31 ธ.ค.54 ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หรือเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ และอยู่ในท้องที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย หากมีรถยนต์เกินกว่า 1 คัน ให้ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีรวมกันทั้ง 2 คัน ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สิทธิ์เข้าโครงการรถคันแรกได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า ต้องมีการทำลายซากรถ

**ลดหย่อนซื้อรถคันใหม่ 1 แสน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการ ในการฟื้นฟูผู้ที่มีรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยหากซื้อรถคันใหม่ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท ตามโครงการรถคันแรก โดยต้องยกเลิกรถคันเก่า เพื่อจำหน่ายเป็นซาก แต่หากผู้ที่ซ่อมรถจากปัญหาอุทกภัยจะได้รับการลดหย่อนภาษี 3 หมื่นบาท ซึ่งเรื่องทั้งหมดนั้น จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติหลักการ การจัดค่าเสื่อมเครื่องจักร ให้กับโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในการซื้อเครื่องจักรใหม่ ในอัตราร้อยละ 125 ภายในระยะเวลา 5 ปี

***รัฐเสียรายได้ 4 พันลบ.

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการที่ประชาชนต้องปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและรถยนต์ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรประมาณ 4,120 ล้านบาท ประกอบด้วยภาษีสูญเสียจากมาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน จำนวน 4,000 ล้านบาท และมาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์จำนวน 120 ล้านบาท

*** อนุมัติหมื่นล.ซ่อมสาธารณูปโภค

ด้านนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (4 ม.ค.) เห็นชอบแผนงานโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านโครงการพื้นฐาน (กคฐ) เสนอ เพื่อซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม วงเงินรวมทั้งงสิ้น 11,026 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ 1.ด้านคมนาคม-ขนส่ง วงเงิน 5,693 ล้านบาท 2. ด้านศาสนสถาน และโบราณสถาน วงเงิน 137 .57 ล้านบาท 3. ด้านสถานศึกษาวงเงิน 1,379 ล้านบาท 4. ด้านแหล่งน้ำ และระบบชลประทาน วงเงิน 3,201.64 ล้านบาท 5. แผนงานโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน

สำหรับการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 613.68 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านยุทโธปกรณ์ที่เสียหายจากน้ำท่วม 341 ล้านบาท และด้านยุทโธปกรณ์ที่เสียหายจากการช่วยเหลือประชาชน 272ล้านบาท

"กฟย.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการทำโครงการฟื้นฟูเยียวยาด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ภายหลังน้ำลด ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานให้กลับสู่สภาพเดิม เปิดใช้บริการได้ปกติโดยเร็ว"นางฐิติมากล่าว

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกขั้นตอนมีการตรวจรับที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล และขอให้ผู้ตรวจราชการลงไปตรวจสอบ รวมทั้งให้จัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการอย่างเหมาะสม

**คลอด 5 มาตรการ กู้ซากนิคมฯ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอมาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคอุตสาหกรรม 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 คือ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติผ่านให้มีมาตรการ เพื่อช่วยเหลือการลงทุน 2 มาตรการย่อยด้วยกัน คือ 1. มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการ ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากอุทกภัย ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่เดิมแล้วนั้น โดยมีเครื่องจักรหรืออาคารโรงงาน ที่ได้รับความเสียหาย และเป็นประเภทกิจการ ที่อยู่ในข่ายที่ได้รับการส่งเสริมภายใต้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อีก 2 กรณี คือ หากเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ก็ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล โดยจำกัดวงเงินที่ยกเว้นให้ถือเสมือนเป็นโครงการใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคคล 8 ปี แต่ถ้าโครงการดังกล่าวยังลงทุนในจังหวัดเดิมที่ประสบอุทกภัยอยู่ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 150 เปอร์เซ็น ของเงินลงทุน รวมกับวงเงินภาษีที่ได้รับอยู่เดิมที่ยังเหลืออยู่ แต่ถ้าหากย้ายไปลงทุนในจังหวัดอื่น ก็ให้ได้รับการยกเว้นร้อยละ 100 เปอร์เซ็น ของวงเงินลงทุน

ส่วนกรณีโครงการที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิม ที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล โดยไม่จำกัดวงเงินภาษี ที่ยกเว้นให้ได้รับสิทธิประโยชน์ จากการยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เพิ่มจากสิทธิและประโยชน์ที่เหลืออยู่ ตามโครงการเดิมอีกไม่เกิน 3 ปี แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี

มาตรการที่ 2 คือ สำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหาย และไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดให้มีการช่วยเหลือนิคมฯ หรือเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในการพัฒนาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในระบบสาธารณนูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมหรือขยายพื้นที่เพิ่มเติมในที่ตั้งเดิมก็ตาม ทั้งนี้จะให้สิทธิและประโยชน์ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล 8 ปี โดยผู้ขอรับการส่งเสริมดังกล่าว จะต้องดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้องกันอุทกภัย และจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่เก็บจากผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม

มาตรการที่ 3 คือ มาตรการสารพัดช่าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย และประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณใกล้เคียงโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการซ่อมเซมบ้านพักอาศัยและเตรื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังให้คำปรึกษาในเรื่องการขอสินเชื่อและการฟื้นฟูกิจการต่างๆ โดยจะเริ่มที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร เป็นที่แรก และที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นลำดับต่อไป

มาตรการที่ 4 คือ มาตรการโครงการคลีนิคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ประสบอุทกภัย โดยจัดเจ้าที่พร้อมที่ปรึกษา เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการ ที่ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งได้มีการเปิดลงทะเบียนไปตั้งแต่เมื่อ วันที่ 1 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมา และบัดนี้ได้มีผู้มาลงทะเบียน เพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 2,588 ราย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว จำนวน 575 ราย และสามารถฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้แล้วจำนวน 114 ราย ส่วนเรื่องการลงทะเบียนเพื่อขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำปัจจุบันนั้น ได้มีผู้มาลงทะเบียนแล้วจำนวน 2,944 ราย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 1.5657 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 765 ราย จะขอรับความช่วยเหลือในด้านสินเชื่อดอกเบี้นต่ำ โดยคิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 3.3093 ล้านบาท

มาตรการที่ 5 คือ การสร้างคันกั้นน้ำถาวรในเขตนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มมีการออกแบบคันกั้นน้ำถาวรแบบมั่นคงเพื่อป้องกันอุทกภัยแล้ว ทั้งหมด 3 แห่ง คือ เขตนิคมอุตสาหกรรมบางประอินทร์ เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ และศูนย์อุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งทั้ง 3 แห่ง ก็ได้มีการติดต่อประสาน เพื่อขอรับสินเชื่อจากธนาคารออมสิน ตามมติครม. แล้ว

**แจ้งตรวจรายชื่อรับ5,000 บาท

นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 5,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 54 โดยมียอดการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 30 เขตของกรุงเทพฯ ณ วันที่ 29 ธ.ค. 54 จำนวน 140,172 ราย คิดเป็นร้อยละ 67 จากจำนวนผู้ประสบภัยที่ขอรับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 209,425 ราย ซึ่งผู้ประสบอุทกภัยสามารถตรวจสอบรายชื่อเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ได้ตามช่องทาง ดังนี้ 1. ทางเวปเพจของธนาคาร www.gsb.or.th 2. ทาง Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115 3. ประกาศรายชื่อหน้าธนาคารออมสินสาขาที่รับผิดชอบพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และ 4. ประกาศรายชื่อ ณ สำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่กรมป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยจัดส่งให้ธนาคารออมสินเท่านั้น หากผู้ประสบภัยท่านใดยังไม่ปรากฏรายชื่อผู้มีสิทธิฯ โปรดติดต่อสำนักงานเขตที่ท่านมีบ้านพักอาศัยตั้งอยู่ สำหรับแนวทางในการขอรับเงินช่วยเหลือจากธนาคารออมสิน มี 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 ติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือ ณ สถานที่ที่สำนักงานเขตกำหนดให้ธนาคารออมสินออกไปให้บริการนอกสถานที่ โดยมีการกำหนดวันเวลา และสถานที่ตามที่จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบ แนวทางที่ 2 ติดต่อขอรับเงิน ณ ที่ทำการสาขาของธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ โดยผู้ประสบภัยต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) พร้อมสำเนาจำนวน 1 ฉบับ ไปแสดงตนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น