"สรพากร" เคาะภาษีบุคคลฯ อัตราใหม่ เล็งปรับลดอัตราเพดานการจัดเก็บให้ถี่ขึ้น เพื่อลดช่องว่างในแต่ละช่วงอัตราภาษีให้แคบลง เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาง-รายได้น้อย พร้อมปรับสิทธิลดหย่อนให้เป็นธรรมขึ้น
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในช่วง มกราคม 2555 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในปีภาษี 2555 โดยหลักการเบื้องต้นคงจะมีการปรับลดอัตราเพดานการจัดเก็บภาษีดังกล่าวให้ถี่ขึ้น เพื่อลดช่องว่างในแต่ละช่วงอัตราภาษีให้แคบลง ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดภาระภาษีสำหรับผู้มีรายได้ระดับกลางถึงน้อย
"เราได้เสนอหลายแนวทางให้ รมช.คลัง พิจารณา ซึ่งแนวทางที่ได้รับความสนใจมากที่สุดตอนนี้คือการปรับอัตราเพดานการจัดเก็บให้มีความถี่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เก็บแบบขั้นบันไดที่ 10-20-30% และสูงสุดที่ 37% เป็น 5-10-15-20-25-30% และสูงสุดที่ 35% ซึ่งแนวทางนี้ก็จะช่วยลดช่วงภาษีที่ดูกว้างเกินไปให้แคบลง"
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในเรื่องกระบวนการในการยื่นภาษี วิธีการยื่นภาษี สิทธิการลดหย่อนภาษี อัตราภาษี ผลกระทบ รวมถึงรายได้ของประชาชนที่จะใช้ในการคำนวณการจัดเก็บภาษีในแต่ละอัตรา โดยในบางขั้นตอน เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษี อาจต้องมีการทยอยออกเป็นกฎหมายลูก เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณ การปรับเพดานอัตราภาษีนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากทางกฤษฎีกา และต้องเข้าสภาซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลานาน
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ อาจส่งผลทำให้รายได้จากภาษีของกรมลดลงไป โดยเฉพาะการลดอัตราเพดานการจัดเก็บจากสูงสุดที่ 37% เหลือ 35% ซึ่งแม้จำนวนรายที่ต้องเสียภาษีในระดับสูงสุดจะไม่มาก แต่วงเงินในส่วนดังกล่าวถือเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ หากมองในทางกลับกันการดำเนินการดังกล่าวก็จะไปช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะสะท้อนกลับมาในรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่แม้จะทดแทนรายได้ในส่วนที่เสียไปไม่ได้ แต่ก็ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง 150,001-500,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 10% เงินได้สุทธิอยู่ ระหว่าง 500,001-1,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 20% เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง 1,000,001-4,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 30% และเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 37%