xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรื้อใหญ่โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-สิทธิลดหย่อนเอื้อคนรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” ติดไฮสปีดลุยสร้างผลงานส่งท้ายปี 54 เตรียมรื้อใหญ่โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาด เสนอ “ธีระชัย” พิจารณาต้นปีหน้า พร้อมจัดระบบรายการสิทธิหักลดหย่อนครั้งใหญ่ หลังพบอัตราเดิมเอื้อประโยชน์คนรวยมากกว่า

มีรายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บในอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได 5 ขั้น จากปัจจุบันเก็บอัตราสูงสุดที่ 37% ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นธรรมมากขึ้น จากปัจจุบันมีการให้สิทธิ ในการลดหย่อนภาษีมากเกินไป และพบว่า มีการเอื้อประโยชน์กับผู้มีรายได้สูง

นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2555 น่าจะสามารถเสนอข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทาง การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง พิจารณาได้ โดยเบื้องต้นจะมีการปรับปรุง และ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีในหลายด้าน เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด

“ตอนนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็กำลังเร่งดำเนินการกันอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้ ยอมรับว่า มีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง และการดำเนินการต่างๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องดูข้อสรุปต่างๆ ที่ออกมาแล้วให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลักการเบื้องต้นในการดำเนินการ ปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะต้องดูเรื่องสิทธิในการลดหย่อนภาษี ที่ปัจจุบันสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 22 รายการ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องมาดูให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนทุกฝ่ายมากขึ้น โดยบางรายการอาจปรับเพิ่ม บางรายการอาจต้องปรับลดลงให้พอดีมากขึ้น ส่วนจำนวนรายการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้น ก็อาจต้องมาดูถึงความเหมาะสมอีกที เพราะปัจจุบันจำนวนรายการที่ลดหย่อนภาษีได้นั้นถือว่าสูงมาก

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราภาษีก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่รายละเอียดในหลายๆ ส่วนยังไม่สามารถชี้แจงได้ใน ขณะนี้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันเสนอ รมว.คลัง ในช่วงต้นปีหน้า

โดยที่ผ่านมา รมว.คลัง ได้มีการเรียกประชุมอย่างต่อเนื่อง และได้มีการติดตามการดำเนินการในทุกๆ ขั้นตอนอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น